วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

นิติราษฎร์ ฉบับที่ ๑๗ (สาวตรี สุขศรี)
กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 
ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา


http://www.enlightened-jurists.com/blog/28



ในประกาศนิติราษฏร์ฉบับที่ ๑๖ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เขียนวิเคราะห์บทบัญญัติพร้อมทั้งชี้ให้เห็นปัญหาของมาตรา ๑๑๒ ในแง่กฎหมายสารบัญญัติ และการใช้การตีความโดยองค์กรตุลาการไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่เพื่อสะท้อนภาพให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น ประกาศนิติราษฎร์ฉบับนี้จึงขอกล่าวถึงปรากฎกาณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับมาตรา ๑๑๒ ในมิติของกระบวนการทางคดี ซึ่งเป็นปัญหาในแง่มุมของกฎหมายวิธีสบัญญัติ ทั้งนี้นับตั้งแต่การกล่าวโทษ การสืบสวนสอบสวน ไปจนถึงการพิจารณาพิพากษาในชั้นศาล อนึ่ง ควรต้องกล่าวเสียก่อนว่า ความบิวเบี้ยวของลักษณะการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมดังจะกล่าวต่อไปนี้ บางกรณีเป็นสิ่งสืบเนื่องมาจากตำแหน่งแห่งที่ในประมวลกฎหมายอาญา และปัญหาอันมีมาแต่ชั้นสารบัญญัติของมาตรา ๑๑๒ เอง ในขณะที่บางกรณีก็เกิดจากทัศนะคติ และความไม่เข้าใจอุดมการณ์การปกครองของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของผู้บังคับใช้กฎหมายในระดับต่าง ๆ โดยมิอาจโทษบทบัญญัติได้ ซึ่งหลัก ๆ พอสรุปปัญหาได้ ๔ ประการ ดังนี้...

ประการแรก คือ บุคคลทั่วไปมีอำนาจกล่าวโทษการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ได้

อันที่จริงประเด็นนี้มีผู้กล่าวถึงไว้บ่อยครั้งแล้ว และถือเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงให้อำนาจบุคคลใดก็ได้ โดยไม่จำต้องเป็น "ผู้เสียหาย" ริเริ่มคดีหรือกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ได้ว่ามีบุคคลกระทำความผิดในฐานนี้ขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังสามารถริเริ่มคดีเองได้ แม้ไม่มีประชาชนคนใดดำเนินการกล่าวโทษเลยก็ตาม

หลักการดังกล่าวนี้อาจไม่มีปัญหาใด ๆ เลย หรือมีปัญหาน้อยมาก หากถูกนำไปใช้กับการกล่าวโทษการกระทำความผิดอาญาแผ่นดินฐานอื่น ๆ ที่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนในตัวของมันเองในการพิจารณาความถูกผิดอย่างฐานฆ่าคนตาย ทำร้ายร่างกาย หรือลักทรัพย์ ฯลฯ ที่สามารถพิจารณาจากพยานหลักฐานได้อย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นความผิดหรือไม่ กล่าวอีกอย่างก็คือ ฐานความผิดดังกล่าวมานั้นเป็นความผิดที่ใช้วิธีพิจารณาอย่างเป็น "ภาวะวิสัย" ไม่ใช่เป็นเรื่องตาม "อัตวิสัย" ของใครคนใดคนหนึ่ง

แต่การให้อำนาจบุคคลใดกล่าวโทษก็ได้นี้จะเกิดปัญหาทันทีเมื่อนำมาใช้กับความผิดอย่างการหมิ่นประมาท หรือการดูหมิ่น เพราะล้วนเป็นความผิดที่เกี่ยวกับการแสดงข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นโดยบุคคล ซึ่งการจะพิจารณาว่าถ้อยคำหรือท่าทางที่ถูกแสดงออกมานั้นเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่ ย่อมผูกโยงอยู่กับทัศนคติ แนวคิด มุมมอง และความเชื่อของบุคคลแต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างกัน บางคนมองว่าพูดหรือทำอย่างไรในเรื่องนี้ก็เป็นความผิด ในขณะที่บางคนเห็นว่าถ้อยคำเช่นนั้นไม่มีทางเป็นความผิดได้เลย

ฉะนั้น ในทางที่ถูกต้องตามหลักการแล้ว ผู้มีอำนาจในการพิจารณาเบื้องต้นว่าข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นเหล่านั้นเป็นความผิด และเสียหายถึงขนาดต้องนำความไปร้องทุกข์หรือไม่ จึงควรหมายเฉพาะ "ผู้เสียหาย" ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนั้นจริง ๆ เท่านั้น แต่เมื่อมาตรา ๑๑๒ มิได้วางอยู่บนหลักการที่ควรจะเป็นดังกล่าว ผลอันไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ทั้งในแง่ของจำนวนคดีความ หรือการแจ้งความโดยขาดเหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจนจึงย่อมเกิดขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ด้วยสถิติจำนวนการแจ้งความคดีประเภทนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงยามที่เกิดความสับสนวุ่นวายทางการเมือง คงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ในที่สุดแล้ว มาตรานี้ได้ถูกกลุ่มการเมืองฝ่ายต่าง ๆ รัฐบาล หรือบุคคลอื่นใดผู้กุมอำนาจนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม หรือของประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตน อันมีลักษณะของการใช้บทบัญญัติอย่างไม่สุจริต และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ประการที่สอง หลักประกันสิทธิผู้ต้องหาในเรื่องต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และปรากฎอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มักถูกยกเว้น หรือไม่ได้รับการปฏิบัติโดยเคร่งครัดจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมาย หากปรากฎว่าผู้ต้องหาถูกกล่าวหาด้วยมาตรา ๑๑๒

นับเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ปรัชญาการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาในประเทศไทยได้ถูกปรับเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นที่การปราบปรามอาชญากรรม ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างรวดเร็ว (The Crime Control Model) ไปสู่การให้น้ำหนักกับการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในทุก ๆ ขั้นตอนของการดำเนินคดีอาญาจนกว่าจะถูกพิพากษาตัดสิน (The Due Process Model)

หลักประกันสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยหลายเรื่องซึ่งขยายความมาจากหลักสากลที่ว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ากระทำความผิด“ (Presumption of Innocence) อาทิ หลักไม่รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย, ผู้ต้องหาต้องได้รับการแจ้งสิทธิต่าง ๆ ในการต่อสู้คดี, สิทธิในการมี พบ หรือปรึกษาทนายความ, สิทธิในการแจ้งข่าวให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบ หรือมาร่วมฟังการสอบปากคำ ฯลฯ ถูกเพิ่มเติมไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกลับปรากฎว่าผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๑๑๒ จำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการประกันสิทธิดังกล่าว หรือมิเช่นนั้นก็อาจถูกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกระบวนการที่ไม่ปรากฎอยู่ในตัวบทกฎหมาย

ในประเด็นนี้ มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงอย่างน้อย ๒ เรื่อง เรื่องแรก คือ คดีที่ไม่เป็นคดี โดยเหตุเกิดจากหญิงสาวคนหนึ่งถูกประชาชนกลุ่มหนึ่งจับและนำตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยเหตุแจกเอกสารที่น่าสงสัยว่าอาจมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นสถาบันฯ อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่ชัดเจนบางอย่าง หรือความอ่อนด้วยเหตุผลที่จะใช้สนับสนุนว่าเอกสารเหล่านั้นมีเนื้อหาเป็นความผิด ทั้งประชาชนผู้จับ และพนักงานสอบสวนจึงไม่ได้แจ้งข้อหาใด ๆ แก่หญิงสาวที่ถูกจับ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่า เธอได้ถูกพนักงานสอบสวนสอบถามเรื่องราว รวมทั้งตรวจสอบทัศนคติที่มีต่อสถาบันฯ อยู่ที่สถานีตำรวจนานกว่า ๕ ชั่วโมง

ภายหลังการสอบถามและทำบันทึกพนักงานสอบสวนแจ้งว่า เธอควรลงนามรับรองในใบบันทึกด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่จะขอตรวจสอบที่พักอาศัย แต่คำถามก็คือ พนักงานสอบสวนใช้อำนาจตามมาตราใดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการกักตัว สอบปากคำ หรือกระทั่งขอตรวจสอบที่พักอาศัยอันถือเป็นที่รโหฐานที่ตามปกติต้องมีหมายค้น ทั้งที่ไม่มีการแจ้งข้อหา


เรื่องที่สอง คือ คดีหนึ่งที่เป็นคดี และจำเลยเพิ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ประกอบมาตราอื่นให้จำคุกถึง ๑๓ ปี แต่น้อยคนที่จะทราบข้อเท็จจริงว่า ในชั้นสอบสวนของคดีนี้ ผู้ต้องหาใช้สิทธิร้องขอติดต่อญาติ หรือคนที่ตนเชื่อใจได้หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานสอบสวน อีกทั้งยังมีการพูดกล่าวให้ลงนามรับรองเอกสารข้อกล่าวหาที่น่าสงสัยในเรื่องความสมัครใจของผู้ต้องหา เพราะในขณะถูกขอให้รับรองเอกสารเหล่านั้น บุตรชายของผู้ต้องหาอยู่ในการควบคุมดูแลของพนักงานสอบสวน

นอกจากที่ผ่านมา ผู้ต้องหาคดี ๑๑๒ มักไม่ค่อยได้รับความคุ้มครอง หรือได้รับหลักประกันสิทธิอย่างเต็มที่และเสมอภาคในกระบวนวิธีพิจารณาในฐานะคดีอาญาปกติ แล้ว ปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่มาตรา ๑๑๒ เป็นความผิดอาญาที่อยู่ในหมวดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ คดีที่มีข้อหาเกี่ยวด้วยมาตรานี้จำนวนมากจึงกลายเป็น "คดีพิเศษ" ที่มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และสามารถใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนแบบพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้ ซึ่งควรต้องทราบว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้มีบทบัญญัติยกเว้นหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่อีกหลายประการ

กรณีต่าง ๆ ดังกล่าวมา ยังมิพักได้กล่าวถึง สิทธิในการขอประกันตัว หรือขอปล่อยชั่วคราวซึ่งรับรองไว้ในกฎหมายมานานแล้วตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในฐานะ "หลักการ" ที่ควรต้องพิจารณาให้ประกันตัวเสมอหากไม่มีเหตุต้องด้วยข้อยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยังไม่ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด แต่ที่ผ่านมา การปล่อยชั่วคราวกลับถูกนำมาใช้แบบไม่เสมอภาค ใช้ในสถานะเสมือนเป็น "ข้อยกเว้น" นำมาใช้เพียงเท่าที่จำเป็น หรือไม่

อาจหลีกเลี่ยงเสียได้กับผู้ต้องหาคดี ๑๑๒ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต้องหาที่ไม่มีตำแหน่งสำคัญใด ๆ หรือไม่ใช่บุคคลสาธารณะ มักไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว หรือถ้าหากต้องการประกันตัวก็ต้องจ่ายหลักประกันจำนวนสูงมากกว่าคดีอื่น ๆ ด้วยเหตุผลว่าเป็นคดีที่มีความร้ายแรง เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเกรงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์กว่าอย่างการฆ่า หรือทำร้ายร่างกายหลายคดี กลับได้รับอนุญาตให้ประกันตัวได้โดยไม่ติดด้วยเหตุผลดังกล่าวมา

ประการที่สาม มีเหตุอันชวนสงสัยว่า เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของมาตรา ๑๑๒ และของอุดมการณ์บางอย่างที่อยู่เบื้องหลังมาตรานี้แล้ว กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการข่มขู่ประชาชน มากกว่าเป็นไปเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

ในช่วงที่ผ่านมา หากใครติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ คงพบการแถลงข่าวโดยเจ้าหน้าที่รัฐบ่อยครั้งทำนองว่า ขณะนี้มีรายชื่อผู้กระทำความผิดอยู่ในข่ายว่าน่าจะกระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบันฯ (หรือถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าคดี "ล้มเจ้า") และทางการได้ออกหมายจับคนกลุ่มดังกล่าวไปจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ในที่สุดกลับไม่มีข้อเท็จจริงปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามหมายนั้นกับใครอย่างจริงจัง คงตั้งหน้าตั้งตาอยู่กับการแถลงข่าวเกี่ยวกับการออกหมาย ปรากฎการณ์เช่นนี้นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง คำถามก็คือ หมายจับที่ว่านี้ แท้ที่จริงแล้วมีหน้าที่อะไรกันแน่ในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการที่เจ้าพนักงานไม่ดำเนินการตามหมาย ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วน่าจะดำเนินการได้ (ระบุตัวผู้กระทำความผิด) เป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา "หมายจับ" คงมีผลบังคับอยู่ตลอดไปจนกว่าจะจับได้ หรือศาลถอนหมายคืน ดังนั้น ในทางกฎหมายย่อมไม่มีปัญหา หากเจ้าพนักงานผู้ปฎิบัติการตามหมายจะใช้เวลานานกับหมายนั้น ตราบใดที่คดียังไม่ขาดอายุความหมายจับในคดีนั้นก็ยังคงใช้บังคับได้ แต่ในทางปฏิบัติ(ที่ควรจะเป็น) ข้อขัดข้อง หรือความจำเป็นที่ต้องใช้เวลานานเพื่อกระทำการตามหมายในคดีอื่น ๆ มักเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานหาตัวผู้ต้องหาเหล่านั้นไม่พบ อันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจปฏิบัติการให้เป็นไปตามหมายได้โดยเร็ว หรือภายในเวลาอันเหมาะสม (ต่อปัญหาเรื่องนี้ เคยเขียนถึงบ้างแล้วกรณีการออกหมายจับ และการจับกุม จีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บไซต์ประชาไท ณ สนามบินสุวรรณภูมิ)

จริงอยู่ที่ว่า ปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดเป็นข้อบังคับว่า เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบหมายจับควรต้องปฏิบัติการตามหมายโดยไม่ชักช้า หรือดำเนินการจับในเวลาแรกที่กระทำได้ แต่หากพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการจับซึ่งมีเป้าหมายหลักสำคัญ ๔ ประการ (ตามเหตุแห่งการออกหมายจับ) แล้ว คือ

๑) เพื่อนำตัวผู้ที่มีหลักฐานน่าจะเป็นผู้กระทำความผิดมาควบคุมหรือส่งฟ้องต่อศาล
๒) เพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นก่อเหตุร้ายหรือกระทำความผิด
๓) เพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นไปข่มขู่พยาน หรือยักย้ายหลักฐาน และ
๔) เพื่อดำเนินการแก่ผู้ต้องหาตามกฎหมายกำหนด (เช่น แจ้งข้อหา หรือสอบปากคำ ฯลฯ)

การปล่อยหมายให้เนิ่นช้าไปทั้งที่ทำได้ จึงไม่น่าจะชอบด้วยเจตนารมณ์แห่งการออกหมาย หากกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว การประกาศว่ามีหมายจับ แต่ไม่ยอมจับทั้งที่ทำได้ หรือการพยายามประโคมข่าวถึงการออกหมายจับ แทนที่จะแถลงข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการจับกุมผู้ต้องหาตามหมาย และกระบวนการต่อไปภายหลังจับ จึงมิอาจคิดเป็นอื่นไปได้เลย นอกจากรัฐกำลังใช้กฎหมาย และบทบัญญัติว่าด้วยการออกหมายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่ และสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวและไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ให้เกิดขึ้นทั้งกับคนที่คาดหมายได้ว่าตนอาจมีชื่ออยู่ในหมายจับ และทั้งประชาชนโดยทั่วไป

ประการที่สี่ นอกจากปัญหาในแง่การใช้การตีความของศาลที่ไม่ใคร่จะสอดคล้องกับระบอบการปกครองในยุคสมัยปัจจุบัน (ตามที่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เขียนถึงไปแล้ว) แล้ว ปัญหาข้อถกเถียงอีกเรื่องหนึ่งในชั้นพิจารณาคดีของศาล ก็คือ ได้ปรากฎว่าคดี ๑๑๒ จำนวนไม่น้อยถูกทำให้เป็นเรื่องลึกลับที่ประชาชนทั่วไปไม่อาจรับรู้หรือตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของศาลได้ ทั้งที่อำนาจฟ้องก็ดี และทั้งเนื้อหาแห่งคดีก็ดี มีลักษณะของความสาธารณะ

หนึ่งในหลักการทั่วไปของการพิจารณาคดีอาญาในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็คือ การพิจารณาคดีในชั้นศาลต้องกระทำโดยเปิดเผย (มาตรา ๑๗๒ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) คำว่า "เปิดเผย" ในที่นี้ หมายรวมทั้งเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปที่แม้ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับคดีโดยตรงเข้าฟังการพิจารณาคดีในศาลได้ และเปิดกว้างให้สื่อมวลชนรายงานข่าวหรือสรุปการพิจารณาคดีเพื่อเผยแพร่โดยทั่วไป เท่าที่ไม่ทำให้เกิดอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาล ทั้งนี้เพื่อแสดงความโปร่งใสของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม

ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานและการใช้ดุลพินิจของศาลได้ อย่างไรก็ตาม "เพื่อประโยชน์แห่งความสงเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน" ศาลไทยมีอำนาจสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับได้ ตามมาตรา ๑๗๗ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสั่งเช่นนี้อาจมาจากการร้องขอโดยคู่ความ หรือศาลสั่งเองโดยคู่ความไม่ได้ขอก็ได้ ที่ผ่านมา คดีที่มักพิจารณาลับ ก็อาทิ คดีข่มขืนกระทำชำเรา คดีครอบครัว คดีที่มีเด็กหรือเยาวชนเป็นจำเลย หรือที่เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น

ผลของการพิจารณาคดีลับนี้ นอกจากประชาชนทั่วไปเข้าฟังในศาลไม่ได้ และห้ามสื่อมวลชนโฆษณาหรือทำข่าวแล้ว ในคำพิพากษาฎีกาที่เผยแพร่ก็จะไม่มีการระบุรายละเอียดของคดีที่พิจารณาลับไว้ด้วย นั่นย่อมหมายความว่าการใช้ดุลพินิจโดยศาลในเรื่องนั้นมิอาจถูกตรวจสอบโดยประชาชนได้เลย

ข้อที่ควรพิจารณาในชั้นนี้ ก็คือ คดี ๑๑๒ ควรหรือไม่ที่ให้มีการดำเนินการพิจารณาโดยลับ ดังกล่าวไปแล้วว่าการกระทำที่เกี่ยวกับการแสดงข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นนั้นจะเป็นความผิดหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับแนวคิด และทัศนคติส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ฉะนั้นเมื่อการกระทำนี้ถูกเสนอให้เป็นคดีความ จึงย่อมกลายเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาโดยเด็ดขาด

เรื่องที่เป็นอัตวิสัยอย่างมากเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดที่มีความละเอียดอ่อน อีกทั้งมีอัตราโทษสูงมากอย่างกรณี ๑๑๒ ผู้พิพากษาจึงยิ่งต้องแสดงความโปร่งใสว่าไม่ได้ใช้อำนาจไปอย่างอำเภอใจ หรือถือตามอคติส่วนตน ต้องระมัดระวังการใช้ดุลพินิจอย่างมาก การไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลในเรื่องนี้เลย จึงไม่น่าจะชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

กล่าวโดยสรุป ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า นอกจากสาเหตุในเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของมาตรา ๑๑๒ กล่าวคือ บัญญัติอยู่ในส่วนความมั่นคงของรัฐ ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับลักษณะความผิด และระดับความรุนแรงของผลจากการกระทำ แล้ว ปัญหาในประการต่าง ๆ ดังกล่าวมาอีกอย่างน้อย ๓ ปัญหา (ยกเว้น ปัญหาการให้อำนาจบุคคลทั่วไปกล่าวโทษได้) เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยทัศนคติของบรรดาผู้บังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมในระดับชั้นต่าง ๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ เพราะหลักประกันสิทธิผู้ต้องหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยชั่วคราว การออกหมายจับตามเหตุแห่งกฎหมาย หรือการพิจารณาคดีต้องกระทำโดยเปิดเผย ล้วนเป็นหลักทั่วไปที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภายใต้ปรัชญาการดำเนินคดีอาญาด้วยความเป็นธรรมในทุกขั้นตอน (Due Process) ย่อมสามารถ หรือควรนำมาปรับใช้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยสำหรับความผิดทุกประเภทที่อยู่ในบริบทแวดล้อมแบบดียวกัน แต่การณ์กับไม่เป็นเช่นนั้น หรือย่อหย่อนอย่างมากกับคดี ๑๑๒

ดังนั้น ตราบใดที่ในระบบกฎหมายไทยยังคงความผิดในฐานหมิ่นประมาทสถาบันฯ หรือความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ไว้ในสถานภาพเช่นนี้ ตราบใดที่ทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้รับการปรับแก้ให้ถูกต้องสอดคล้องกับอุดมการณ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ยังมองเห็นผู้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นซึ่งถูกกล่าวหาตามมาตรา ๑๑๒ เป็นอาชญากรคดีอุกฉกรรจ์ หรือถึงขั้นบ่อนทำลายชาติกระทบกระเทือนความมั่นคง หรือตราบใดที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ยังมีแนวคิดเหมือนอยู่ในยุคการปกครองในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้น้ำหนักกับการต้องแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี มากแบบเกินไปมาก กว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กระทั่งเสรีภาพในชีวิตร่างกายของประชาชน หลักประกันสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยสำหรับผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๑๑๒ ก็คงเป็นเรื่องไร้ความหมายอยู่ต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น