วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

วันอภัยราชา - ไพร่แขนขาว
http://www.enlightened-jurists.com/page/184



“วันอภัยราชา”
ไพร่แขนขาว

ประกาศกำหนดวันอภัยราชา
ด้วยความสำนึกและระลึกถึงการริเริ่มการศึกษานิติศาสตร์สมัยใหม่ในสยามประเทศโดยเจ้าพระยาอภัยราชา
อาศัยอำนาจตามความเป็นมนุษย์ “ไพร่แขนขาว” จึงออกประกาศกำหนดให้วันที่ ๙ มกราคมของทุกปีเป็น “วันอภัยราชา”
ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ได้เผยแพร่ประกาศนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ไพร่แขนขาว
หมายเหตุท้ายประกาศ :-
๑.    “อภัยราชา” แปลว่าอะไร
๒.    “เจ้าพระยาอภัยราชา” คือใคร
๓.    เหตุใดนามสกุลของ “เจ้าพระยาอภัยราชา” จึงมีสร้อยท้าย
๔.    เหตุใด “เจ้าพระยาอภัยราชา” จึงมาเกี่ยวข้องกับสยาม
๕.    “เจ้าพระยาอภัยราชา” ทำคุณประโยชน์ใดแก่สยาม
๖.    “เจ้าพระยาอภัยราชา” ได้รับการยกย่องอย่างไร
๗.    เหตุใด “เกียรติศักดิ์เกียรติคุณ” ของ “เจ้าพระยาอภัยราชา” จึง “ศูนย์เสีย” ไปจากความทรงจำของนักกฎหมายไทย
๘.    “วันอภัยราชา”

ปัจฉิมลิขิต

๑.    “อภัยราชา” แปลว่าอะไร

“ไพร่แขนขาว” ฉงนสงสัยมานานว่า “อภัยราชา” แปลว่าอะไร พยายามลองแปลเองแบบผู้รู้น้อยก็คิดได้หลายความหมาย คือ (๑) การให้อภัยแก่พระราชา (๒) การให้อภัยจากพระราชา (๓) การให้อภัยที่ยิ่งใหญ่ดุจดังพระมหากรุณาธิคุณของพระราชาที่ทรงมีแก่พสกนิกร (๔) ความไม่มีภัยแก่พระราชา (๕) ความไม่มีภัยจากพระราชา อย่างไรก็ดี เมื่อได้ค้นคว้าเพิ่มเติมก็ได้ความกระจ่างว่า “อภัยราชา” แปลได้ว่า “ผู้ไม่มีไภยแต่พระราชา คือ พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานอภัย1  ฟังแล้วก็น่าจะตรงกับความเข้าใจอันดับที่ (๒) ของ “ไพร่แขนขาว” นั่นเอง

๒.    “เจ้าพระยาอภัยราชา” คือใคร

“ไพร่แขนขาว” เชื่อว่านักกฎหมายจำนวนมากมิได้รู้หรือรู้แต่ลืมว่า “เจ้าพระยาอภัยราชา” คือใคร แม้ว่า “เจ้าพระยาอภัยราชา” จะเป็นบรรดาศักดิ์ที่อาจมีบุคคลหลายท่านได้รับพระราชทานชื่อเดียวกัน แต่ที่รับรู้กันอยู่ทั่วไปนั้น “เจ้าพระยาอภัยราชา” คือ นาย Gustave Rolin-Jaequemyns

คนไทยเรียกชื่อ Gustave Rolin-Jaequemyns แตกต่างกันออกไปหลากหลาย พระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งของรัชกาลที่ ๕ ใช้คำว่า “รอลินแยกกระมินซ์2  ลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ใช้คำว่า “รอลองยะโคเม3  คุณไกรฤกษ์ นานา ใช้คำว่า “โรแลง ชาเกอแมง4  พันตรี พีรพล สงนุ้ย ใช้คำว่า “โรลัง จ๊ากเกอมังส์5  ศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ ใช้คำว่า “โรแลง ฌ๊าคแม็งส์6  คุณกัลยา จุลนวล ใช้คำว่า “คุสตาฟ โรลิน ยัคมินส์7  ศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี ดุ๊ก ใช้คำว่า “โรแลง จัคแมง หรือ เชเกอแมง คุณนิกร ทัสสโร ใช้คำว่า “กุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์9  แต่หมายเหตุนี้จะใช้ตามอำเภอใจว่า “กุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์” แม้มีผู้รู้แนะนำว่าเสียงที่ใกล้เคียงน่าจะเป็น “โรแลง ฌ๊าคแม็งส์” ตามคำของศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ ก็ตาม อนึ่ง คำไทยไม่นิยมเขียนขีดคั่น “โรแลง-ยัคแมงส์” ตามคำอังกฤษ ซึ่งทำให้เวลาคนไทยเขียนชื่อท่านเป็นคำอังกฤษมักจะลืมขีดคั่นดังกล่าว

ท่านกุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์ เกิดที่เมืองเคนท์ (Ghent) ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๗๘ (ค.ศ. ๑๘๓๕) มีน้องทั้งหมด ๑๖ คน มีบิดาชื่อ Hippolyte Rolin ผู้เคยเป็นศิษย์ของนักนิติศาสตร์เรืองนามอย่างซาวินยี (Savigny) และนักปรัชญาชื่อดังของโลกอย่างเฮเกล (Hegal) และต่อมาก็ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการของเบลเยี่ยมด้วย 

ส่วนท่านกุสตาฟ ผู้เป็นบุตรนั้นได้ศึกษาวิชากฎหมายเจริญรอยตามบิดา โดยเรียนเก่งติดอันดับหนึ่งในทุกชั้นปี ต่อมาสำเร็จปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์และการเมืองที่มหาวิทยาลัยเคนท์ ท่านกุสตาฟมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานจนได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของเบลเยี่ยมนานถึง ๖ ปี และรักษาการรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการอยู่อีกช่วงหนึ่ง ประสบการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ส่งผลให้ท่านกุสตาฟมีความคุ้นเคยกับวิถีของขุนนางและกษัตริย์เป็นอย่างดี อันมีความสำคัญยิ่งในการใช้ชีวิตในสยามต่อไปภายหน้า10

ท่านกุสตาฟนั้นต้องถือว่าเป็นอภิชาตบุตรโดยแท้ ว่ากันโดยตำแหน่งทางการเมืองก็ได้เป็นรัฐมนตรีถึงสองตำแหน่ง แต่ที่สำคัญยิ่งน่าจะเป็นงานด้านวิชาการที่สร้างชื่อไว้อย่างมากมาย โดยผลักดันให้มีการจัดทำวารสารกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายเปรียบเทียบ (Revue de Droit International et de Legislation Comparee)11  และยังจัดตั้งสถาบันกฎหมายระหว่างประเทศ (Institute de droit international) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกอีกด้วย ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของวงการนิติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน12  โดยสถาบันกฎหมายระหว่างประเทศแห่งนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ (ค.ศ. ๑๙๐๔)13  เวทีวิชาการได้สร้างทั้งชื่อเสียงและเครือข่ายความสัมพันธ์ให้ท่านกุสตาฟเป็นอย่างมาก 

ผลงานวิชาการของท่านกุสตาฟก็มีอยู่มากมาย การกล่าวถึงเกียรติคุณเป็นตัวอย่างแต่เพียงเล็กน้อยก็น่าจะเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นความสามารถอันสูงยิ่งของท่านกุสตาฟได้แล้ว เช่น ท่านได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ ทั้งจากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก (Edinburgh) มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด (Oxford) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) เป็นต้น

๓.    เหตุใดนามสกุลของ “เจ้าพระยาอภัยราชา” จึงมีสร้อยท้าย

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า “เจ้าพระยาอภัยราชา” มีชื่อแท้ว่า “กุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์” ทว่าเดิมนั้นชื่อจะสั้นเพียง “กุสตาฟ โรแลง” ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๐๒ (ค.ศ. ๑๘๕๙) ท่านกุสตาฟได้สมรสกับนางสาวอีมิลี ยัคแมงส์ (Emilie Jaequemyns) ซึ่งอยู่ในตระกูลพ่อค้าที่มีชื่อเสียงของเบลเยี่ยมในยุคนั้น ท่านกุสตาฟจึงเพิ่มนามสกุลของภรรยาไว้ต่อท้ายนามสกุลเดิมของตน อาจจะด้วยความรักที่มีต่อภรรยาประการหนึ่ง14  และอาจต้องการสร้างความแตกต่างระหว่างตนเองกับบิดาอีกประการหนึ่ง15  ซึ่งตามธรรมเนียมฝรั่งนั้นหากเป็นทางการนิยมเรียกตัวบุคคลตามนามสกุล ถ้าไม่เป็นทางการและสนิทกันก็อาจเรียกชื่อตัวได้ 

ดังนั้นเวลาเรียก “โรแลง” ซึ่งเป็นนามสกุล จึงอาจสับสนว่าหมายถึงใคร พ่อหรือลูก ถ้าเป็นลูก แล้วลูกคนไหน ด้วยเหตุนี้นับแต่การสมรสเป็นต้นมาผู้คนพากันเรียกท่านกุสตาฟว่า “โรแลง ยัคแมงส์” (Rolin-Jaequemyns) มาจนถึงทุกวันนี้ การที่ชายใช้นามสกุลตนเองต่อด้วยนามสกุลภรรยานั้นต้องถือว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดา ไม่เฉพาะแต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน แม้ในปัจจุบันก็ยากที่จะหาชายใดกระทำการเช่นนั้นเลย นับว่าท่านกุสตาฟได้ให้เกียรติสตรีอย่างมากอันเป็นเรื่องที่น่าเลื่อมใสยิ่ง

๔.    เหตุใด “เจ้าพระยาอภัยราชา” จึงมาเกี่ยวข้องกับสยาม

เมื่อดูประวัติและผลงานของท่านกุสตาฟแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าผู้มีชื่อเสียงระดับนี้จะเข้ามารับราชการในสยาม แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการประกอบกัน เริ่มตั้งแต่ทัศนคติด้านนิติศาสตร์ของท่านกุสตาฟสอดคล้องกับจุดยืนของสยาม การที่ท่านเป็นชาวเบลเยี่ยมซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ท่ามกลางมหาอำนาจต่างๆ ของยุโรป ทำให้ท่านมีทัศนะเรื่องความเท่าเทียมกันของรัฐ ไม่ว่าจะรัฐเล็กรัฐใหญ่ก็ควรมีสถานะตามกฎหมายระหว่างประเทศเสมอกัน หากมีข้อพิพาทกันก็ควรจะแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี โดยใช้อนุญาโตตุลาการแทนการใช้กำลังอาวุธเข้าตัดสินปัญหา อันเป็นหลักการที่ขัดกับปรัชญาของการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศส ที่เชื่อมั่นว่าการล่าอาณานิคมจะนำมาซึ่งความศิวิไลซ์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และศาสนา แก่ประเทศที่ล้าหลัง หากไม่เชื่อฟังกันก็ต้องใช้กำลังอาวุธบังคับ16

การเมืองภายในประเทศเบลเยี่ยมก็มีส่วนสำคัญที่อาจทำให้ท่านกุสตาฟเห็นว่าการทำงานใดๆ ในประเทศเบลเยี่ยม ไม่น่าจะได้รับความร่วมมือด้วยดีและยากที่จะสัมฤทธิ์ผล เนื่องจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามชนะการเลือกตั้งเข้าเป็นรัฐบาล และยังเข้าไปมีบทบาทในแทบจะทุกส่วนอำนาจของสังคมเบลเยี่ยมแม้แต่ในมหาวิทยาลัยก็ตาม17

ในแง่ความรับผิดชอบต่อครอบครัวนั้น ท่านกุสตาฟเป็นพี่คนโตของตระกูล จึงมีภาระต้องดูแลน้องๆ อีก ๑๖ คน แม้ส่วนใหญ่อาจมิได้เป็นภาระ แต่การที่ท่านไปค้ำประกันให้น้องชายคนหนึ่งซึ่งต่อมาล้มละลาย ท่านจึงต้องรับภาระหนี้แทน18  เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท่านกุสตาฟต้องหางานประจำที่เหมาะสมทำต่อไป นอกจากนี้ ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินงานของวารสารและสถาบันกฎหมายระหว่างประเทศที่ท่านกุสตาฟเป็นผู้ก่อตั้งนั้น น่าจะเบียดเบียนเงินส่วนตัวของท่านไปไม่น้อยเช่นกัน19 

ด้วยปัจจัยทางการเมืองและการเงินดังกล่าว ท่านกุสตาฟจึงจำเป็นต้องหางานประจำที่เหมาะสมแก่เกียรติยศวงศ์ตระกูลในต่างแดน ซึ่งก็กำลังจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัยการสูงสุด (Attorney General) สำหรับคดีในศาลนานาชาติในประเทศอียิปต์ 

แต่การที่บุคคลสำคัญของอียิปต์เสียชีวิตลงในขณะนั้นทำให้การแต่งตั้งต้องเนิ่นช้าออกไป ในจังหวะนั้นเอง ฝ่ายสยามก็กำลังหาผู้มีความสามารถเข้ามาแทนที่นายเฮนรี อาลบาสเตอร์ (ต้นตระกูล “เศวตศิลา”) ที่ปรึกษากฎหมายนานาประเทศซึ่งถึงแก่กรรมไปได้ไม่นาน แต่ยังสืบหาไม่ได้ บังเอิญหรือชะตาลิขิตก็มิอาจทราบได้ ในระหว่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จกลับจากราชการในยุโรปและแวะดูกิจการต่างๆ ในอียิปต์ ทรงมีโอกาสได้สนทนากับท่านกุสตาฟผ่านการแนะนำของท่านลอร์ดเรย์ (Lord Reay) 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็น “คุณวุฒิวิเศษชั้นสูง” ในตัวท่านกุสตาฟ จึงเสนอตำแหน่งดังกล่าวให้พิจารณา ซึ่งท่านกุสตาฟก็ตอบรับ20  แม้ว่าโดยส่วนตัวท่านจะได้รับการคัดค้านจากภรรยาและมิตรสหาย รวมถึงศาสตราจารย์เวสต์เลค (Westlake) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และนักนิติศาสตร์รางวัลโนเบลอย่างท่านอัสเซอร์ (Asser) ด้วยก็ตาม21

๕.    “เจ้าพระยาอภัยราชา” ทำคุณประโยชน์ใดแก่สยาม

ท่านกุสตาฟเริ่มรับราชการในตำแหน่ง “ที่ปรึกษาราชการทั่วไป” ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ. ๑๘๙๒) จนแม้ได้กราบบังคมทูลลาออกเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ. ๑๘๙๙) และเดินทางกลับเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ. ๑๘๙๙) แล้วก็ตาม รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕ (ค.ศ. ๑๙๐๒)

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ลักษณะงานของที่ปรึกษาจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ อำนาจของที่ปรึกษาจึงอยู่ที่เหตุผลและศิลปะในการโน้มน้าวเป็นสำคัญ เมื่อให้คำแนะนำไปแล้ว ความรับผิดและรับชอบก็จะตกอยู่แก่ผู้ที่นำคำแนะนำนั้นไปใช้ งานให้คำปรึกษาจึงเป็นงานหลังฉากซึ่งชื่อของผู้ให้คำปรึกษาจะไม่ปรากฏให้เห็นไม่ว่าจะในคำสั่ง ประกาศ กฎหมาย พระราชโองการ หรือพระบรมราโชวาทใดๆ

ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ท่านกุสตาฟและกลุ่มเพื่อนนักกฎหมายระหว่างประเทศสนับสนุนวิธีระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น โดยท่านกุสตาฟได้เขียนบทความเรื่อง “On Arbitration as a Means of Settling Disputes between Nations” ไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ (ค.ศ. ๑๘๘๓) 

ต่อมาในระหว่างที่ท่านมาเป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไปของสยามแล้ว ปรากฏว่าวิธีระงับข้อพิพาทแบบอนุญาโตตุลาการได้ถูกระบุอยู่ในพระบรมราโชวาทซึ่งรัชกาลที่ ๕ พระราชทานแก่คณะผู้แทนสยามเพื่อให้สนับสนุนเรื่องดังกล่าวในการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮก ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ. ๑๘๙๙)22  

แม้จะไม่มีความตอนใดระบุถึงท่านกุสตาฟไว้เลย ก็ไม่อาจสรุปเป็นอย่างอื่นได้นอกจากจะสรุปว่าแนวความคิดเรื่องนี้มาจากท่านกุสตาฟอย่างมิพักต้องสงสัยเลย23

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นธรรมดาสำหรับงานเขียนประวัติศาสตร์บางฉบับจะไม่กล่าวถึงหรือไม่ให้เครดิตแก่ท่านกุสตาฟ เพราะศึกษาอ้างอิงเฉพาะเอกสารทางการหน้าฉากโดยมิได้ค้นคว้าไปถึงเอกสารหลังฉากที่กองจดหมายเหตุ กรมศิลปากร รวมถึงจดหมายส่วนตัวโต้ตอบกับบุคคลต่างๆ หรือมิได้วิเคราะห์แนวความคิดเบื้องหลังอันเป็นฐานที่มาของนโยบาย ที่ร้ายกว่านั้น คือ ผู้ต้องเสียประโยชน์หรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายใดๆ มักจะพาลโทษผู้ให้คำปรึกษาอย่างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารฝ่ายอังกฤษและฝ่ายฝรั่งเศสในฐานะประเทศนักล่าอาณานิคม ย่อมจะต้องแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อบทบาทของท่านกุสตาฟที่พยายามช่วยให้สยามรักษาเอกราชของตนไว้ให้ได้24

กระนั้นก็ดี เอกสารฝ่ายไทยค่อนข้างเป็นที่ยุติตรงกันว่าท่านกุสตาฟ “เป็นผู้มีบทความสำคัญในการแนะนำการปฏิรูประบบราชการเกือบทุกด้าน”25  รัชกาลที่ ๕ ทรงยอมรับความคิดเห็นต่างๆ ที่ท่านกุสตาฟกราบบังคมทูลแทบทุกอย่าง26 

หากจะกล่าวโดยย่อแล้ว ท่านกุสตาฟมีบทบาทสำคัญอยู่เพียง ๒ เรื่อง คือ 
(๑) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 
(๒) การปฏิรูปราชการภายในประเทศ 

ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้มีความครอบคลุมงานสำคัญแทบจะทุกด้านของสยามเลยทีเดียว โดยมีเป้าหมายหนึ่งร่วมกัน คือ เพื่อรักษาความมีเอกราชของสยามไว้จากนักล่าอาณานิคม

ในการต่างประเทศนั้น ท่านกุสตาฟได้ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. ๑๑๒ ทั้งวางแผน เจรจา ดำเนินงานข่าว รวมทั้งเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเพื่อแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายสยาม27  

และหลังจากผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปแล้วท่านกุสตาฟก็เป็นผู้ถวายโครงการแด่รัชกาลที่ ๕ ในการเสด็จเยือนประเทศในยุโรป28 ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมากในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ29  

และในระหว่างที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปดังกล่าวนั้น ท่านกุสตาฟก็ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย30  

นอกจากนี้ท่านกุสตาฟยังเสนอให้สยามแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมประชุมต่างๆ หรือการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสำคัญๆ อันเป็นการแสดงความเท่าเทียมกันระหว่างสยามกับนานาอารยะประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีว่าสยามมิใช่ประเทศล้าหลังที่จะต้องตกเป็นอาณานิคมของประเทศใด31

ส่วนงานที่เกี่ยวกับการปฏิรูปราชการภายในประเทศนั้น ท่านกุสตาฟก็มีบทบาทในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการปฏิรูปทหาร การโลหะกิจ การป่าไม้ การที่ดิน32 ตลอดจนเสนอให้มีการจัดตั้งเทศบาลเพื่อดูแลสาธารณูปโภคต่างๆ33  เสนอให้มีการสร้างทางรถไฟเข้าไปในพื้นที่ทางอีสานเพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการรักษาดินแดนสยาม34  สนับสนุนโครงการเบี้ยบำนาญแก่ข้าราชการ35  ถวายโครงการการศึกษาแก่พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ โดยให้แยกศึกษาคนละสาขาวิชากันเพื่อจะได้นำความรู้เหล่านั้นมาร่วมกันช่วยพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันก็ให้กระจายไปศึกษาในประเทศที่แตกต่างกันเพื่อเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศนั้นๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย36  

นอกจากนี้ ท่านกุสตาฟยังเป็นผู้จัดร่างกฎข้อบังคับของสภาอุณาโลมแดงอันมีสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวีทรงดำรงตำแหน่งสภานิยิกาของสภานี้37

สำหรับการปฏิรูปกฎหมายและการศาลยุติธรรมอันเป็นงานส่วนหนึ่งของการปฏิรูปราชการ นอกจากท่านกุสตาฟจะมีส่วนในการจัดทำร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับและจัดระเบียบงานศาลยุติธรรมแล้ว ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มถวายความเห็นต่อรัชกาลที่ ๕ ในการตั้งโรงเรียนสอนกฎหมาย38 
“เนื่องจากเห็นว่าการเล่าเรียนกฎหมายขณะนั้นยังอยู่ในวงแคบไม่มีโรงเรียนสอนวิชานี้โดยตรง ทั้งการศาลยุติธรรมก็ยังล้าหลังอีกต่างหาก สิ่งเหล่านี้นับเป็นข้ออ้างให้มหาอำนาจตะวันตกเข้ามาแทรกแซงไทยขณะนั้นถือเป็นเหตุในการตั้งกงสุล อันนำมาซึ่งความลำบากใจแก่ฝ่ายไทยอย่างมากในการถูกหลู่อธิปไตยทางการศาล ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการเห็นพ้องจากองค์พระประมุข หากพระองค์ทรงรั้งรออยู่จนกระทั่งกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ผู้เป็นพระราชโอรสสำเร็จการศึกษาจากอ๊อกฟอร์ดและมาเป็นผู้ดำเนินการตั้งโรงเรียนกฎหมายดังกล่าว”39 
ต่อมา เมื่อกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงเริ่มรับราชการ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ศึกษากฎหมายกับท่านกุสตาฟ พระองค์ทรงจัดทำสารบาญกฎหมายไทยเป็นภาษาอังกฤษ ทรงจดจำแนวทางกฎหมายและวิธีชำระคดีได้หมด ท่านกุสตาฟถึงกับชมว่าทรงมีความจำแม่นยำ  หลังจากที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมแล้วก็ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น โดยมีท่านกุสตาฟเป็นผู้ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลืออันเป็นประโยชน์นานัปการ41

นอกจากจะแสดงความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังแล้ว ท่านกุสตาฟยังแสดงความกล้าหาญในการถวายความเห็นอย่างตรงไปตรงมาไม่เกรงกลัวพระอาญา “เช่นตอนที่สมเด็จเจ้าฟ้าวชิราวุธฯ [รัชกาลที่ ๖] ได้เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชใหม่ๆ มีความหลงใหลในลาภยศสรรเสริญ ทรงเพลิดเพลินในการละเล่นสิ่งเพลิดเพลินต่างๆ เจ้าพระยาอภัยราชาก็ทูลเตือนเข้ามาให้ [รัชกาลที่ ๕] ทรงทราบ พร้อมกับทูลถวายความเห็นว่าเป็นเพียงวิสัยเด็กที่หลงใหลไปเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น ถ้ามีการอบรมตักเตือนเสียบ้างก็จะดีขึ้นได้”42 

๖.    “เจ้าพระยาอภัยราชา” ได้รับการยกย่องอย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านกุสตาฟได้ทุ่มเททำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาราชการทั่วไปอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย นอกจากมีความจงรักภักดีต่อรัชกาลที่ ๕ เป็นอย่างมากแล้วยังมีอัธยาศัยเข้ากับขุนนางได้ทุกกระทรวง ในส่วนงานเกี่ยวกับกระทรวงการต่างประเทศนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงเคยมีลายพระหัตถ์แสดงการยอมรับความสามารถของท่านกุสตาฟว่า
“I must [admit] that if I am succeed[ing] in the fulfillment of my duties especially to smooth over foreign relations, it [has] … very largely depended upon your most valuable assistance and advice which I did not hesitate to acknowledge to my Sovereign and my colleagues. Had I not your person with me on my side, the peace that is preserved to this day may be destroyed already. It is not ‘the peace at any price’ but ‘the peace with honour’ which all Siamese owe to you in this instance, and this will be enough to testify that you are indispensable to us.”43
นอกจากนี้ ภายหลังจากวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. ๑๑๒ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงถอดแหวนส่วนพระองค์มอบให้ท่านกุสตาฟเพื่อแสดงความนับถือ ท่านกุสตาฟได้นำแหวนนั้นไปสลักคติประจำตระกูลว่า “Nunquam desperandum” แปลว่า “จงอย่าสิ้นหวัง” หรือ “จงอย่ายอมแพ้” ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเห็นว่าเป็นคติที่ดีเหมาะแก่สยามเช่นกัน44

การปฏิบัติหน้าที่ของท่านกุสตาฟนั้นเป็นที่ประจักษ์จนในที่สุดรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านกุสตาฟเป็น “เจ้าพระยา” ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ นับเป็นชาวต่างชาติคนแรกในราชวงศ์จักรี ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ถึงขั้นนี้ อันเป็นบรรดาศักดิ์สูงสุดที่อาจพระราชทานได้ ทั้งนี้ รัชกาลที่ ๕ ทรงเลือกจากชื่อ ๓ ชื่อ ที่คณะกรรมการได้คิดตั้งขึ้น คือ45
๑.    เจ้าพระยารัฐนิติกรปรีชา สยามานุกูลกิจ มหิศรราชภักดิ์ ขรมนตรีวิเศษศักดิ์ ศุภัควราชวาศรัย อภัยพิริยปรากรมพาหุ
๒.    เจ้าพระยารัฐรักขณปรีชา สยามานุกูลกิจ พิสิฐศักดิ์ศุภมนตรี ธราบดีศิลัยภักดิ์ วรัคสัตยาชวาศรัย อภัยพิริยปรากรมพาหุ
๓.    เจ้าพระยาอภัยราชา สยามานุกูลกิจ สยามมิศรมหายศ นานาพจนพากยโกศล สกลเทศธรรมสาสตราจารย์ รัชบาลกิตโยปเทศก์ พิเศษศุภรรถธรรมยุกติ์วาทิน ปรมินทรมหาสวามิภักดิ์ ปรมัครราชมนตรี อภัยพิริยปรากรมพาหุ

พระองค์ทรงเลือกชื่อที่สามแต่โปรดให้ตัดความบางตอนออกและดัดแปลงเล็กน้อย ดังปรากฏชื่อในราชกิจจานุเบกษา ว่า “เจ้าพระยาอภัยราชา สยามานุกูลกิจ สกลนิติธรรมศาสตราจารย์ มหิบาลมหาสวามิภักดิ์ ปรมัคราชมนตรี อภัยพิริยปรากรมพาหุ” อันมีความหมายว่า “ผู้ไม่มีไภยแต่พระราชา คือ พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานอภัย มีกิจอันอนุกูลแก่สยาม เป็นอาจารย์กฎหมายนานาประเทศ มีความภักดีต่อพระมหากษัตริย์อย่างมาก ที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดินผู้เลิศยิ่ง มีความหมั่นเป็นผู้กล้า แลความหมั่นก้าวไปในเบื้องหน้าอันไม่มีไภย เป็นประหนึ่งแขน กล่าวคือ เป็นเครื่องนำราชการไป”46

หลังจากที่เจ้าพระยาอภัยราชาได้กราบบังคมทูลลากลับเบลเยี่ยมแล้ว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาให้เจ้าพระยาอภัยราชาหาคนใหม่มาแทน ความตอนหนึ่งว่า

 “ ... เราอยากจะได้คนซึ่งฝังลงในหน้าที่ และมีความรักเมืองเราบังเกิดขึ้นจนเป็นที่ไว้วางใจกันได้จริงอย่างเช่นตัวท่าน ในคุณสมบัติเช่นนี้แล เราไม่ได้ฝันเห็นเลยว่าจะได้”47  

นอกจากนี้ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ถึงการทำงานของเสนาบดีสภาที่ล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพ ยังได้กล่าวถึงลักษณะการทำงานของเจ้าพระยาอภัยราชาด้วย ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อเจ้าพระยาอภัยราช [sic] อยู่มีประโยชน์อยู่บ้างโดยทางกระทรวงต่อกระทรวง แต่ไม่ใช่เป็นอย่างไปรมินิสเตอร์ ประโยชน์ที่มีนั้นคือ เจ้าพระยาอภัยราชาเป็นกองกลางร่างหนังสือให้หลายกระทรวงด้วยกัน หรือออกความเห็นให้ผู้ซึ่งต่างคนต่างไปปฤกษา เมื่อความคิดเห็นเป็นความคิดอันเดียวกัน และเจ้าพระยาอภัยราชาเป็นคนมีความพยายามหรือพอใจในการโต้เถียงมาก ใช่แต่เท่านั้นเป็นผู้ซึ่งคอยมาฟ้องในความคิดอันใดอันหนึ่งซึ่งเห็นว่าผิดหรือในการอันใดซึ่งเห็นว่าเฉื่อยชา ก็เฝ้ามาฟ้องให้ได้เร่งรัดว่ากล่าว การดำเนินไปได้โดยอย่างนี้มาก เพราะฉะนั้นความต้องการของคนอย่างเช่น เจ้าพระยาอภัยราชานั้นไม่มีทั่วไป มีอยู่แต่ในคนบางคน มีตัวเราเป็นต้น เพราะมีผู้เบื่อเจ้าพระยาอภัยราชาเป็นอันมาก
ตั้งแต่เจ้าพระยาอภัยราชากลับออกไปแล้วนี้ สังเกตดูว่าการหงอยช้าลงไปแล้วทุกเดือน ที่เป็นสำคัญนั้นในกระทรวงต่างประเทศ แต่ถึงกระทรวงอื่นๆ ที่ไม่อึดอัดอยู่เสียก็มี การที่ช้านั้นไม่ใช่จำเพาะขัดข้องนึกไม่ออกอย่างเดียว ช้าปกติของคนไทยนั้นมีเป็นอันมาก . . .”48

อนึ่ง เมื่อเจ้าพระยาอภัยราชาถึงอสัญกรรม เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ. ๑๙๐๒) รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชโทรเลขแสดงความโทมนัส โดยทรงเรียกเจ้าพระยาอภัยราชาว่า “ผู้เป็นสหายรักและที่ปรึกษาอันเราไว้วางใจที่สุด”49

ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อสร้างโรงเรียนกฎหมายเสร็จเรียบร้อย คณะกรรมการจึงได้คิดสร้างรูปจำหลักศิลาเจ้าพระยาอภัยราชาคู่กับพระรูปกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ไว้เป็นที่ระลึก ณ โรงเรียนกฎหมายแห่งนี้50  และในวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ เจ้าพระยาพิชัยญาตินายกกรรมการได้อ่านคำกราบบังคมทูลรายงาน ความตอนหนึ่งกล่าวถึงเจ้าพระยาอภัยราชาว่า
“อนึ่งในการที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ทรงจัดราชการยุติธรรมและการศึกษาให้มีผลเปนความเจริญแผ่กว้างไปนั้น ได้ทรงรับความแนะนำช่วยเหลืออันเปนประโยชน์นานัปการจากเจ้าพระยาอภัยราชา (โรแลง ยัคแมงส์) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ผู้เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาผู้นั้นจึ่งเปนผู้มีส่วนสำคัญในการดัดแปลงราชการยุติธรรมและริเริ่มการศึกษากฎหมายตามแบบใหม่ด้วยอีกผู้หนึ่ง
. . .
ฉะเพาะในราชการยุติธรรมซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงริเริ่มดัดแปลงและดำเนินการตามแบบใหม่นั้น ถึงแม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงทราบแน่ในพระราชหฤทัยว่าพระราชโอรสพระองค์นั้นประกอบด้วยความเฉลียวฉลาดรอบรู้วิชชาการอันได้ทรงศึกษามาแม่นยำแล้ว และทั้งเปนผู้ประกอบด้วยความเพียรมาดมุ่งอยู่ แต่จะถึงซึ่งความสำเร็จในราชการซึ่งทรงรับมอบหมายให้จัดนั้นก็จริง แต่ก็ยังเปนผู้มีพระชนม์มายุน้อย ยังไม่มีความคุ้นเคยในราชการมานานนัก ไม่ไว้พระราชหฤทัยลงไปทีเดียวว่าจะทรงจัดราชการผ่อนปรนทางเก่าและใหม่ให้เข้าเกลียวกันเปนที่เรียบร้อยได้ จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยราชาผู้มีความรู้และความชำนาญเปนผู้คอยช่วยเหลือตักเตือนกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์อีกชั้นหนึ่ง เจ้าพระยาอภัยราชารับพระราชทานภาระอันนั้นแล้วก็ได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ช่วยเหลือเกื้อหนุนกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เต็มความสามารถ จนได้ทรงจัดราชการสำเร็จไปดั่งพระราชประสงค์ ...”51
รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชดำรัสตอบ ความตอนหนึ่งว่า
“เจ้าพระยาอภัยราชา (โรแลง ยัคแมงส์) แม้เป็นชาวต่างประเทศก็ได้รับราชการโดยความจงรักภักดีและซื่อตรงต่อประเทศสยามอย่างแท้จริง ได้ช่วยเหลือเปนกำลังสำคัญในการจัดแก้ระเบียบการศาลยุติธรรมดั่งกล่าวแล้ว คุณความดีของท่านทั้ง ๒ ที่ได้ฉลองพระเดชพระคุณมา จึ่งเปนที่ปรากฏฝังใจชาวเราอยู่ และเพราะเหตุฉะนี้ความดำริในการคิดทำอนุสาวรีย์ท่านทั้ง ๒ จึ่งเปนผลสำเร็จเกินคาดจนถึงมีเงินเหลือเปนทุนไว้สำหรับซื้อตำราเรียนเกื้อกูลการศึกษาด้วยเสียอีก
บัดนี้ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะทำพิธีเปิดรูปศิลาจำหลักทั้ง ๒ นี้ เพื่อเปนเครื่องเตือนใจคณะเนติบัณฑิต และบุคคลทั้งหลายที่ได้มาพบเห็น ระลึกถึงเกียรติคุณความดีของท่านทั้ง ๒ และให้เปนคติแก่ความประพฤติดำเนินการของคนทั้งหลาย พึงเห็นว่าถ้าได้ประกอบคุณความดีไว้ในชีวิตแล้ว เกียรติศักดิ์เกียรติคุณไม่ศูนย์เสีย ย่อมจะปรากฏความดีงามไปชั่วกาลนานเหมือนดั่งรูปท่านทั้ง ๒ นี้”52

๗.    เหตุใด “เกียรติศักดิ์เกียรติคุณ” ของ “เจ้าพระยาอภัยราชา” จึง “ศูนย์เสีย” ไปจากความทรงจำของนักกฎหมายไทย

ถึงแม้ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส จะเห็นว่า “นักกฎหมายในรุ่นต่อๆ มาก็ได้สำนึกในบุญคุณของเจ้าพระยาอภัยราชาผู้นี้ ดังจะเห็นได้ในงานเขียนวิชาการที่กล่าวถึงท่านอยู่เสมอ”53  

แต่ศาสตราจารย์แสวงเองก็ไม่ได้ระบุว่างานเขียนวิชาการดังกล่าวมีอยู่ที่ใดบ้าง นักกฎหมายรุ่นที่ศาสตราจารย์แสวงกล่าวถึง น่าจะเป็นคณะเนติบัณฑิตที่ผลักดันการสร้างรูปศิลาจำหลักในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นสำคัญเท่านั้น 

เนื่องจากความจริงที่ปรากฏในวงการกฎหมายไทยหลังจากนั้น คือ ไม่มีพิธีการรำลึกที่ปรากฏแก่สาธารณชนถึงเจ้าพระยาอภัยราชาเลย แม้ในวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ อันเป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีวันอสัญกรรมของเจ้าพระยาอภัยราชา ก็ปรากฏแต่ความเงียบดังสนั่นไปทั่ว และวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่เพิ่งผ่านมาก็มีแต่ความเงียบอีกเช่นเคย ด้วยความรู้อันจำกัดของตนเอง “ไพร่แขนขาว” ไม่เคยพบเห็นบทความหรือเอกสารวิชาการใดๆ ของ “นักกฎหมายไทย” ที่เขียนถึงเจ้าพระยาอภัยราชาโดยเฉพาะเลย 

(หากมีอยู่ “ไพร่แขนขาว” ก็ต้องขออภัยเป็นอย่างสูง)

การที่ “เกียรติศักดิ์เกียรติคุณ” ของเจ้าพระยาอภัยราชาได้ “ศูนย์เสีย” ไปจากความทรงจำของนักกฎหมายไทย ไม่เป็นไปดังพระราชดำรัสของรัชกาลที่ ๗ นั้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความผันผวนทางการเมืองในยุคหลัง ๒๔๗๕ ระลอกหนึ่ง และยุคหลัง ๒๕๐๐ อีกระลอกหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” หรือ “ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อพระรูปศิลาจำหลักกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์และรูปศิลาจำหลักเจ้าพระยาอภัยราชา 

แม้พระรูปและรูปดังกล่าวในแง่หนึ่งจะเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงคุณงามความดีที่บุคคลหนึ่งๆ ได้กระทำไว้แก่ส่วนรวม แต่ในอีกแง่หนึ่งกลับเป็นสัญลักษณ์ของระบอบเดิมที่มีความเสื่อมถอยมาตามลำดับ

เมื่ออุดมการณ์ของสัญลักษณ์ไม่สอดคล้องต้องกัน ก็เป็นธรรมดาที่พระรูปและรูปดังกล่าวจะหายไปจากการรับรู้ของสังคม กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ โรงเรียนกฎหมายได้โอนไปรวมกับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระรูปและรูปดังกล่าวก็ย้ายตามไปด้วย ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ พระรูปและรูปดังกล่าวก็ย้ายมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย นับแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นจนถึงวาระครบรอบ ๕๐ ปีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ ๒๕๒๗ จึงได้มีการค้นพบพระรูปและรูปศิลาจำหลักดังกล่าวอีกครั้ง54 

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า แม้ในระหว่างที่พระรูปและรูปศิลาจำหลักทั้งสองได้หายไปจากการรับรู้ของสังคม แต่เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้มีการรื้อฟื้นความสำคัญของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเปิดอนุสาวรีย์ของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์หน้ากระทรวงยุติธรรม55  โดยหาได้มีการกล่าวถึงเจ้าพระยาอภัยราชาแต่อย่างใดไม่ ทั้งๆ ที่วันเปิดพิธีดังกล่าวจะเลยวันคล้ายวันอสัญกรรมของเจ้าพระยาอภัยราชามาเพียง ๑๘ วันเท่านั้น

เรื่องนี้เป็นที่เข้าใจได้โดยง่าย เนื่องจากปี พ.ศ. ๒๕๐๗ กำลังอยู่ในยุคสมัยเผด็จการ รัฐบาลถนอมต่อเนื่องจากรัฐบาลสฤษดิ์ซึ่งขาดความชอบธรรมทางการเมือง จึงจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศการเมืองที่อิงแอบสถาบัน56  

นับเป็นสภาพการณ์ที่เอื้อต่อการรื้อฟื้นความสำคัญของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์กลับมาแต่พระองค์เดียว57  ส่วนเจ้าพระยาอภัยราชานั้นเป็นชาวต่างชาติ แม้จะทำคุณประโยชน์แก่สยามไว้มากเพียงใดก็ไม่ต้องด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองในยุคเผด็จการอีกเช่นกัน การกล่าวถึงเจ้าพระยาอภัยราชาไม่อาจสร้างความชอบธรรมทางการเมืองใดๆ ให้แก่ฝ่ายเผด็จการได้ จึงไม่จำเป็นต้องไปกล่าวยกย่องให้ยุ่งยากเสียเวลา อีกทั้งยังเป็นเรื่องนอกประเด็น ผิดฝาผิดตัวกับยุคสมัย ด้วยเหตุดังนี้ สถานะของเจ้าพระยาอภัยราชาจึงดูเหมือนว่ามีลักษณะเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่เข้าด้วยทั้งอุดมการณ์ฝ่ายประชาธิปไตยในยุค ๒๔๗๕ และฝ่ายเผด็จการอิงแอบสถาบันในยุคหลัง ๒๕๐

๘.    “วันอภัยราชา”

การมองว่าเจ้าพระยาอภัยราชาเป็นสัญลักษณ์ตกค้างมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะท่านเข้ามาช่วยราชการสยามในทุกๆ ด้านเพื่อให้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีความเชื่อในความเท่าเทียมกันของบุคคล โดยเป็นผู้ถวายความเห็นว่ากฎหมายอาญาที่จัดทำขึ้นใหม่นั้นไม่สมควรให้คนชั้นสูงได้รับอภิสิทธิ์ปลอดจากโทษอาญาหากว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดจริง ทั้งนี้เพื่อธำรงความยุติธรรมให้เสมอกันในสังคม58  

หลักการเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์เช่นว่านี้เป็นมูลฐานสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยต่อไป

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเจ้าพระยาอภัยราชาจะเคยถวายความเห็นต่อรัชกาลที่ ๕ ว่า หากมีการเลือกตั้งในขณะที่ประชาชนยังไม่มีความพร้อมด้านการศึกษาอย่างเพียงพอแล้ว อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากตามมาได้ แต่เราต้องเข้าใจบริบทสังคมในยุคนั้นว่า ผู้ที่ศึกษาวิชานิติศาสตร์มีเพียงหยิบมือเดียว โรงเรียนกฎหมายก็ยังไม่มี วิชาการอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างกัน ท่านคงจะนึกถึงประสบการณ์ในอดีตที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของเบลเยี่ยม ซึ่งท่านไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิเลือกตั้งเป็นการทั่วไปแก่ประชาชนในขณะที่ระบบการศึกษาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนจักร การเลือกตั้งอาจส่งผลให้การบริหารบ้านเมืองตกอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้มีอิทธิพลทางศาสนา59 

ในอีกด้านหนึ่ง การที่จะมองว่าการยกย่องเจ้าพระยาอภัยราชาจะเท่ากับเป็นการลดความสำคัญของคนไทยในฐานะผู้วางรากฐานกฎหมายไทยสมัยใหม่นั้น ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเช่นกัน ดังที่ทราบกันดีว่าเจ้าพระยาอภัยราชาเป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมาย และยังมีส่วนช่วยดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนกฎหมายในระยะเริ่มแรก อีกทั้งกฎหมายฉบับต่างๆ ในยุคนั้นก็ผ่านการตรวจร่างของท่านเป็นจำนวนไม่น้อย การระลึกถึงผลงานที่ท่านได้ทำไว้ นอกจากจะมิได้เป็นการลดศักดิ์ศรีของคนไทยแล้ว ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นการแสดงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยที่พร้อมจะยกย่องผู้ประพฤติดีโดยไม่สนใจว่าบุคคลนั้นจะเป็นชนชาติใด ดังที่รัชกาล ๗ ทรงมีพระราชดำรัสในพิธีเปิดรูปศิลาจำหลักเจ้าพระยาอภัยราชาคู่กับพระรูปศิลาจำหลักกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ว่า 

“เพื่อเปนเครื่องเตือนใจคณะเนติบัณฑิต และบุคคลทั้งหลายที่ได้มาพบเห็น ระลึกถึงเกียรติคุณความดีของท่านทั้ง ๒ และให้เปนคติแก่ความประพฤติดำเนินการของคนทั้งหลาย พึงเห็นว่าถ้าได้ประกอบคุณความดีไว้ในชีวิตแล้ว เกียรติศักดิ์เกียรติคุณไม่ศูนย์เสีย ย่อมจะปรากฏความดีงามไปชั่วกาลนานเหมือนดั่งรูปท่านทั้ง ๒ นี้”

นอกจากการทำคุณูปการให้สยามในฐานะที่ปรึกษาราชการทั่วไปแล้ว ท่านกุสตาฟยังมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศยุคใหม่ ถึงจะไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันมากนักในเมืองไทยก็ตาม แต่ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์กฎหมาย ชื่อ Martti Koskenniemi ได้กล่าวว่า
“กฎหมายระหว่างประเทศยุคใหม่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของบุคคล ๖ ท่าน ท่านที่เป็นกำลังหลัก คือ นักกฎหมายชาวเบลเยี่ยมกุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์60 
ถ้าเชื่อคำกล่าวนี้แล้วใช้จารีตยกย่องแบบไทยๆ ท่านกุสตาฟคงจะได้รับการสถาปนาให้เป็น “บิดาแห่งกฎหมายระหว่างประเทศสมัยใหม่” เป็นแน่แท้ 

เมื่อเป็นเช่นนี้นักกฎหมายไทยก็มิควรรีรอหรือเหนียมอายที่จะยกย่องบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องอย่างท่านกุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์ ที่คราวหนึ่งได้เคยฝากผลงานไว้ในดินแดนสยาม จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาอภัยราชา”

ในระหว่างที่อยู่ในสยาม ท่านกุสตาฟคงจะได้ศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่บ้าง พอจะมองเห็นว่าปรัชญาของสปิโนซา (Spinoza) มีความคล้ายคลึงกับหลักพุทธธรรม61  และมีความเห็นว่าชาวพุทธเป็นผู้ที่มีความอดกลั้นอดทนที่สุดในโลก62  

เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง ท่านกุสตาฟต้องการเผชิญความตายอย่างมีสติ โดยไม่ยอมดื่มแชมเปญซึ่งพยาบาลนำมาให้ดื่มเพื่อให้สดชื่นขึ้น พร้อมกับกล่าวว่า“Death arrives, I must preserve the full freedom of my mind.”63  

และแล้วในเช้าวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕ (ค.ศ. ๑๙๐๒) ท่านกุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์ หรือเจ้าพระยาอภัยราชาก็ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ

ดังนั้น “ไพร่แขนขาว” จึงเห็นควรกำหนดให้
วันที่ ๙ มกราคมของทุกปีเป็น “วันอภัยราชา” ชั่วกาลนาน

++++++++

ปัจฉิมลิขิต
๑.    “ไพร่แขนขาว” ต้องขอขอบคุณคณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ที่มิได้จัดสัมมนาเนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๙ ปีวันอสัญกรรมของท่านกุสตาฟ จึงเป็นเหตุให้ “ไพร่แขนขาว” ต้องอดหลับอดนอนลงมือเขียนหมายเหตุท้ายประกาศนี้ด้วยตนเอง ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ถึง ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔

๒.    ในการเขียนหมายเหตุนี้ “ไพร่แขนขาว” ได้ใช้ข้อมูลอันจำกัดเท่าที่ตนมีอยู่แต่เดิม มิได้ไปแสวงหาข้อมูลอื่นใดเพิ่มเติม จึงต้องขออภัยหากจะตกหล่นข้อมูลสำคัญอื่นใดไปบ้าง อีกทั้งต้องขออภัยที่เขียนหมายเหตุนี้เสียยึดยาว ทั้งๆ ที่คาดหวังไว้เพียงไม่กี่หน้าเท่านั้น เนื่องจากมีความรู้ความสามารถอันจำกัดจะเขียนให้ย่นย่อแล้วได้ใจความเท่าเดิมก็เหลือวิสัย

๓.    ในปัจจุบันมีการจัดตั้ง “มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ” ขึ้นมาภายใต้การดูแลของเหลน (ลือ ลืบ ลืด?) (อาจจะสายตรงและสายลูกพี่ลูกน้อง?) ของเจ้าพระยาอภัยราชา โดยมีโครงการดีๆ หลายโครงการ เช่น การสนับสนุนสโมสรฟุตบอลเชียงรายฮิลล์ (Chiangrai Hill) ซึ่งนักฟุตบอลทั้งหมดล้วนแต่เป็นชาวเขา ผู้ใดต้องการสนับสนุนก็สามารถเข้าไปดูในเว็บไซด์ด้านล่างนี้ได้ ทั้งนี้ขอเรียนว่า “ไพร่แขนขาว” มิได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับมูลนิธิหรือสโมสรดังกล่าวเลย

----------------------------------------------
เชิงอรรถ
1. กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (คุสตาฟ โรลิน ยัคมินส์) ที่ปรึกษาทั่วไป ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๕๐) น. ๒๔ [ต่อไปจะเรียกว่า “กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา”].
2. กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, เพิ่งอ้าง, น. ๔๕.
3. กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, เพิ่งอ้าง, น. ๖ – ๑๐.
4. ไกรฤกษ์ นานา, ประวัติศาสตร์นอกพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ : พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก (สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๗) น. ๑๓๗.
5. พันตรี พีรพล สงนุ้ย, กรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๑๒ ตามหลักฐานฝรั่งเศส (สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๕) น. ๖๖.
6. ชาญชัย แสวงศักดิ์, “ความและปรัชญาของกฎหมายมหาชน” (๒๕๒๙) วารสารกฎหมายปกครอง ล. ๕ น. ๔๒.
7. กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑.
8. เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงสิ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒) น. ๗๔ [ต่อไปจะเรียกว่า “เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศ”].
9. นิกร ทัสสโร, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย, (นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๙) น. ๓๔๙ [ต่อไปจะเรียกว่า “นิกร ทัสสโร, พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์”].
10. Baron Edouard Rolin-Jaequemyns, “Foreword” in Walter E.J. Tips, Gustave Rolin-Jaequemyns and the Making of Modern Siam: The Diaries and Letter of King Chulalongkorn’s General Adviser, (White Lotus: Bangkok, 1996) at xviii [hereinafter “Edouard, ‘Foreword’ in Tips, Modern Siam”].
11. http://www.archive.org/details/revuededroitint22lawgoog
12. http://www.idi-iil.org/
13. http://nobelprize.org/nobel_prizes/peace/laureates/1904/index.html
14. Walter E.J. Tips, Gustave Rolin-Jaequemyns (Chao Phraya Aphai Raja) and the Belgian Advisers in Siam (1892-1902): An Overview of Little-Known Documents Concerning the Chakri Reformation Era (Bangkok: 1992) at 40 [hereinafter “Tips, An Overview”].
15. Edouard, “Foreword” in Tips, Modern Siam, supra note 10, at xvi.
16. Compare Tips, An Overview, supra note 14, at 49-52.
17. Edouard, “Foreword” in Tips, Modern Siam, supra note 10, at xx.
18. สาส์นสมเด็จ ภาค ๔๔, น. ๓๗ – ๔๐ อ้างใน กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑, น. ๖ – ๙.
19. See Tips, An Overview, supra note 14, at 21.
20. โปรดดู กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑, น. ๔๕.
21. Edouard, “Foreword” in Tips, Modern Siam, supra note 10, at xxi.
22. ฉลอง สุนทราวาณิชย์, “ไทยกับการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก ค.ศ. ๑๙๘๘” (๒๕๔๒) รัฐศาสตร์สาร ป. ๒๑ ฉ. ๒ น. ๑ – ๓๖. ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ สยามได้เสนอให้ใช้อนุญาโตตุลาการเช่นกัน เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศ,
23. อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๘, น. ๕๘.
24. ในการประชุมคราวเดียวกันนั้น นักนิติศาสตร์ชื่ออัสเซอร์ (Asser) เพื่อนสนิทคนหนึ่งของท่านกุสตาฟ ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการจัดตั้งศาลอนุญาโตตุลาการถาวรจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ทำให้ท่านอัสเซอร์ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา http://nobelprize.org/nobel_prizes/peace/laureates/1911/
ตัวอย่างเอกสารที่วิจารณ์บทบาทของท่านกุสตาฟ Nigel Brailey, Two Views of Siam on the Eve of the Chakri Reformation: Commets by Robert Laurie Morant and Prince Pritsdang (Kiscadale Publications, 1989) at 40, 45, 47 and 109-111; Patrick Tuck, The French Wolf and the Siamese Lamb: The French Threat to Siamese Independence 1858-1907 (White Lotus, 1995) at 114-115, 221, 257-259, 366 n.58 and 397 n.16 ข้อมูลจากฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสจะวิจารณ์คำแนะนำของท่านกุสตาฟในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ว่า “โง่เง่า” (foolish) ในหน้า ๒๕๗, “ไร้สาระ” (pettifogging) ในหน้า ๓๖๖, “ไม่ประนีประนอม” (uncompromising) ในหน้า ๓๙๗ โดยเห็นว่าสยามควรจะยอมฝรั่งเศสไปเถิด ชาติเอเชียเล็กๆ ไม่มีทางที่มหาอำนาจอันแข็งแกร่งอย่างฝรั่งเศสจะยอม หวังจะพึ่งแต่อังกฤษคงจะยาก แถมยังดอดไปผูกมิตรกับเยอรมนีกับรัสเซียอีก อังกฤษก็ยิ่งไม่พอใจ พูดง่ายๆ ก็คือ ให้ยอมแพ้อย่างไม่มีศักดิ์ศรีนั่นเอง ซึ่งเป็นทัศนคติที่เชื่อว่าการตกเป็นเมืองขึ้นเป็นเรื่องดี โปรดดูหน้า ๒๒๑ ประกอบด้วย
25. สุรพล ไตรเวทย์, การร่างประมวลกฎหมายในประเทศสยาม (สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๕๐) น. ๔๓.
26. กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑, น. ๒๗.
27. Walter E.J. Tips, Gustave Rolin-Jaequemyns and the Making of Modern Siam: The Diaries and Letter of King Chulalongkorn’s General Adviser, (White Lotus: Bangkok, 1996) at 285 – 297 [hereinafter “Tips, Modern Siam”].
28. กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑, น. ๔๓.
29. โปรดดูเปรียบเทียบกับ ไกรฤกษ์ นานา, สยามกู้อิสรภาพตนเอง : ทางออกและวิธีแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองเกิดจากพระราชกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน (สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๕๐).
30. กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑, น. ๔๔.
31. Tips, Modern Siam, supra note 27, at 366 – 369.
32. Tips, Modern Siam, Ibid., at 253 – 284.
33. โปรดดู ชมพูนุท นาคีรักษ์, บทบาทของที่ปรึกษาชาวต่างประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓ (ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๑๓) น. ๖๙ – ๗๑ [ต่อไปจะเรียกว่า “ชมพูนุท นาคีรักษ์, บทบาทของที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ”].
34. โปรดดู ชมพูนุท นาคีรักษ์, บทบาทของที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ, เพิ่งอ้าง, น. ๘๑ – ๘๒.
35. โปรดดู ชมพูนุท นาคีรักษ์, บทบาทของที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ, เพิ่งอ้าง, น. ๘๔.
36. โปรดดู ชมพูนุท นาคีรักษ์, บทบาทของที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ, เพิ่งอ้าง, น. ๗๕ – ๗๖.
37. โปรดดู ชมพูนุท นาคีรักษ์, บทบาทของที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ, เพิ่งอ้าง, น. ๖๘.
38. โปรดดู บันทึกของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) อ้างใน กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑, น. ๒๘.
39. จรัญ โฆษณานันท์, ปรัชญากฎหมายไทย (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๑) น. ๒๙ – ๓๐.
40. นิกร ทัสสโร, พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๙, น. ๙๗ – ๙๘.
41. นิกร ทัสสโร, พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์, เพิ่งอ้าง, น. ๑๐๘.
42. โปรดดู ชมพูนุท นาคีรักษ์, บทบาทของที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๓๓, น. ๗๗ อ้างถึง กองจดหมายเหตุ กรมศิลปากร, เอกสารรัชกาลที่ ๕ แฟ้ม ต.๒๑/๑๒, เรื่องเจ้าพระยาอภัยราชาแลเลดี้เจ้าพระยาอภัยราชา, “พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๕ กับเจ้าพระยาอภัยราชา”, สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๒.
43. Tips, Modern Siam, supra note 27, at 474.
44. Tips, Modern Siam, Ibid., at 480.
45. กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑, น. ๒๓ – ๒๕.
46. แสวง บุญเฉลิมวิภาส, ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย (สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๕๒) น.๑๖๒.
47. กรมศิลปกร, กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารรัชกาลที่ ๕ แฟ้มที่ ต ๒/๑๑ “ร่างพระราชหัตถ์ถึงเจ้าพระยาอภัยราชา”, พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเจ้าพระยาอภัยราชา, กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๑ (พ.ศ. ๒๔๔๔) อ้างใน กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑, น. ๒๖.
48. ธิดา สาระยา, “สยามินทร์ปิ่นธเรศเจ้า จุลจอม จักรเอย” (เมืองโบราณ, ๒๕๔๐) น. ๙๗ – ๙๘.
49. กิเลน ประลองเชิง, “สหายรัก ร.๕” ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ ๖ พ.ย. ๒๕๕๑ น. ๑๙.
50. กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑, น. ๗๒.
51. กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑, น. ๘๒ – ๘๓.
52. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๔๔ วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๗๐ หน้า ๔๐๓๑ – ๔๐๔๔ อ้างใน กัลยา จุลนวล, เจ้าพระยาอภัยราชา, เพิ่งอ้าง, น. ๘๕ – ๘๗. ในปัจจุบัน คำว่า “ศูนย์เสีย” ควรจะสะกดว่า “สูญเสีย” แต่หมายเหตุนี้ต้องการใช้คำว่า “ศูนย์เสีย” ตามเอกสารเดิม
53. แสวง บุญเฉลิมวิภาส, ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย (สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๕๒) น.๑๖๓.
54. กำธร เลี้ยงสัจธรรม, “อนุสรณ์สำคัญของนักกฎหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”, รพี ๒๗ อ้างใน สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “พระองค์เจ้ารพีฯ เป็น บิดาแห่งกฎหมายไทย จริงหรือ” http://www.midnightuniv.org/finearts2544/newpage4.html
55. โปรดดู นิกร ทัสสโร, พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๙, น. ๔๖๙ – ๔๘๑.
56. โปรดดูเปรียบเทียบกับ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (มูลนิธิโครงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๘) น. ๓๕๒ – ๓๗๔.
57. โปรดดูเปรียบเทียบกับ สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “พระองค์เจ้ารพีฯ เป็น บิดาแห่งกฎหมายไทย จริงหรือ” ตั้งแต่เชิงอรรถที่ ๒๙ เป็นต้นไป http://www.midnightuniv.org/finearts2544/newpage4.html
58. Tips, Modern Siam, supra note 27, at 257.
59. Tips, Modern Siam, Ibid., at 11 – 13.
60. M. Koskenniemi, “Nationalism, Universalism, Empire: International Law in 1871 and 1919” at 6. http://www.helsinki.fi/eci/Publications/Koskenniemi/Columbia%200405.pdf
“Modern international law arose out of the activities of six men. The key figure is the Belgian avocat Gustave Rolin-Jaequemyns (1835-1902), a liberal-radical politician and humanitarian activist who admired the German Katheder-Sozialisten, organized the first meeting of the Institut de droit international and became its Secretary-General and later President.”
นักกฎหมาย ๕ ท่านที่เหลือล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับสากลและได้รับการยกย่องจนถึงปัจจุบันทั้งสิ้น คือ :-
(๑)    John Westlake ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ต่อจากท่านเซอร์เฮนรี่เมน (Sir Henry Sumner Maine)
(๒)    Tobias Asser นักกฎหมายชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากการผลักดันให้มีศาลอนุญาโตตุลาการถาวรขึ้นมา นอกจากนี้ท่านยังสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันศึกษากฎหมายต่างๆ ซึ่งได้รับการยกย่องมากถึงขนาดนำชื่อท่านไปตั้งชื่อสถาบัน http://www.asser.nl/
(๓)    Gustave Moynier นักกฎหมายชาวสวิส ผู้ร่วมก่อตั้ง “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ” (International Committee of the Red Cross: ICRC) และดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการนี้ยาวนานที่สุด
(๔)    Johann Caspar Bluntschli นักกฎหมายชาวสวิส เคยเรียนกับซาวินยี (Savigny) ที่เบอร์ลิน และต่อมาเป็นศาสตราจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก
(๕)    Pasquale Mancini รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอิตาลี มีชื่อเสียงด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
61. See Tips, Modern Siam, supra note 27, at 215.
62. See Tips, Modern Siam, Ibid., at 471.
63. Tips, An Overview, supra note 14, at 54.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น