วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554


นิติราษฏร์ ฉบับ ๑๘ (ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล)
http://www.enlightened-jurists.com/blog/29


กรณีลงโทษจำคุกผู้วิจารณ์กษัตริย์สเปน
เป็นการขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


สรุปประเด็นในคำวินิจฉัยศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป 
(15 มีนาคม 2011)
(แปลจากต้นฉบับบันทึกแถลงสื่อมวลชน (communiqué de presse) 
โดยสำนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนประจำศาล)

1. วัตถุประสงค์ในการแปล
เนื่องจากอาจารย์ ดร.วรเจตน์ ฯ ได้เขียนประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 16 เรื่อง “ปัญหาของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ลงเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ตามมาด้วยบทความของอาจารย์ ปิยบุตร ฯ เรื่อง "ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ขัดกับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น  : กรณีหมิ่นประมาทกษัตริย์สเปน"  เมื่อวันที่ 18 มีนาคม และในวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มนิติราษฎร์ได้จัดเสวนาทางวิชาการ พร้อมทั้งมีแถลงการณ์และข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญาในเรื่องนี้ และล่าสุด อ.สาวตรี ฯ ได้เขียนประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 17 เรื่อง “กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ : ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” เมื่อวันที่ 28 มีนาคมไว้แล้ว
เพื่อให้ผู้สนใจในเรื่องนี้ได้มีข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นข้อมูลที่ปรากฏในผลคำวินิจฉัยของศาลที่ได้รับการยอมรับกันในระดับนานาชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชาคมยุโรป 


ผู้เขียนจึงพยายามแปล “บันทึกแถลงสื่อมวลชน (communiqué de presse)” ซึ่งจัดทำขึ้นโดย “สำนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนประจำศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (Greffier de la Cour)” จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสที่ได้เผยแพร่ลงในเว็บไซต์ของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2011 ที่ผ่านมา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สนใจไว้ ณ ที่นี้...

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของเอกสารที่นำมาแปล ก็น่าจะช่วยในการทำความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ในบทความที่กล่าวแล้วข้างต้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทความของ อ.ปิยบุตร ฯ ซึ่งได้กล่าวรายละเอียดเรื่องนี้ไว้โดยตรงและได้หยิบยกประเด็นต่าง ๆ มาจากคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชน ฯ ฉบับเต็มเลยทีเดียว

2. ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นฉบับ

2.1 ที่มาของต้นฉบับ : communiqué de press, 13. Arrêt de chambre Otegi Mondragon c. Espagne 15.03.2011, ในhttp://www.echr.coe.int/ECHR/FR/Header/Press/News/Press+releases/

2.2 ต้นฉบับบันทึกแถลงสื่อมวลชนนี้เป็นบันทึก “สรุปประเด็นสำคัญ” ในคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลสิทธิมนุษยชน ฯ จึงมีความยาวประมาณ 5 หน้ากระดาษ ซึ่งไม่ยาวจนเกินไปและเหมาะแก่การนำมาเผยแพร่ให้ทราบทั่วกัน

2.3 เมื่อบันทึกแถลงสื่อมวลชนฉบับนี้มีความกระชับและสรุปประเด็นที่ศาลวินิจฉัยไว้เป็นอย่างดียิ่งแล้ว ผู้แปลจึงขอให้ผู้สนใจได้พิจารณาและใช้วิจารณาญาณด้วยตนเอง ทั้งนี้ โดยอ่านประกอบบทความที่อ้างถึงข้างต้นไว้แล้ว

3. วิธีการแปล

3.1 เพื่อให้ผู้สนใจติดตามเนื้อหาในต้นฉบับได้ง่ายขึ้น ผู้แปลได้ใส่เครื่องหมาย [ … ] ในบางแห่ง ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 
(1) อธิบายความเพิ่มเติม หรือ 
(2) กำหนดประเด็นให้แก่เนื้อหาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
3.2 ผู้แปลได้ตัดข้อความตอนท้ายในต้นฉบับออกไป ซึ่งเป็นข้อความประชาสัมพันธ์อื่น ๆ เกี่ยวกับคำวินิจฉัยและหน่วยงานศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (เช่น เชิญชวนให้เข้าดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลในเว็บไซต์ การสมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับบันทึกแถลงสื่อมวลชนเป็นประจำ ปีที่มีการก่อตั้งและสถานที่ตั้งของศาล เป็นต้น)
-------------------------------

บันทึกแถลงสื่อมวลชน

โดย สำนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนประจำศาล
หมายเลข 215
15.03.2011

__________________________
คำพิพากษาลงโทษสมาชิกรัฐสภาฐานหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง
ต่อกษัตริย์สเปนเป็นการขัดต่อเสรีภาพ
ในการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา

ในคำวินิจฉัยซึ่งยังไม่เป็นที่สุด1และได้มีมติแล้วในวันนี้ กรณีคดีนายโอเตกี มอนดรากอน (คำร้องที่ 2034/07) ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปลงมติและเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ว่า เป็นการละเมิดบทบัญญัติในมาตรา 10 (ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น) แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป

คดีนี้เป็นกรณีคำพิพากษา [ของรัฐสเปน] ให้ลงโทษในคดีอาญาแก่โฆษกของกลุ่มสมาชิกรัฐสภาฝ่ายซ้ายเพื่อเอกราชแห่งบาสก์ ในฐานหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรงต่อกษัตริย์แห่งสเปน อันเนื่องจากข้อความที่ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนในวาระการเสด็จเยือนแคว้นบาสก์อย่างเป็นทางการของกษัตริย์สเปน

ข้อเท็จจริงในคดี

นายอาร์นัลโด โอเตกี มอนดรากอน ผู้ร้องเป็นพลเมืองสเปน เกิดเมื่อปี 1956 และมีถิ่นที่อยู่ ณ Elgoibar (Gipuzkoa) ในขณะยื่นคำร้อง และเป็นโฆษกของกลุ่ม Sozialista Abertzaleak  ซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกรัฐสภาฝ่ายซ้ายเพื่อเอกราชแห่งบาสก์ในสภาประชาคมอิสระแห่งแคว้นบาสก์

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2003 โดยอาศัยอำนาจแห่ง l’Audiencia Nacional สำนักงานของหนังสือพิมพ์ Euskaldunon Egunkaria ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและปิดสำนักงาน ด้วยเหตุที่มีข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายของ ETA [ขบวนการเสรีภาพและปลดปล่อยแคว้นบาสก์] มีผู้ถูกจับกุมจำนวน 10 คนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และบรรณาธิการคนสำคัญของสำนักพิมพ์ ต่อมา 5 วันภายหลังถูกกักตัวเป็นการลับ บุคคลเหล่านี้จึงออกมากล่าวหาว่าได้มีการใช้วิธีการทรมานพวกตนในระหว่างการควบคุมตัวด้วย
ในระหว่างให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนที่ San Sebastián  


เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2003 ซึ่งในวันดังกล่าวกษัตริย์สเปนเสด็จมาร่วมงานเปิดศูนย์การไฟฟ้าในแคว้นบาสก์ ผู้ร้องในฐานะโฆษกของกลุ่มสมาชิกรัฐสภาข้างต้น ได้กล่าวตอบคำถามของผู้สื่อข่าวรายหนึ่งว่า พิธีเปิดศูนย์การไฟฟ้าที่มีกษัตริย์ ฮวน คาลอส แห่งราชวงศ์บูร์บงเข้าร่วมด้วยนี้ ต้องนับว่าเป็น “ความน่าละอายทางการเมืองอย่างแท้จริง” 


ผู้ร้องได้กล่าวว่า กษัตริย์ในฐานะ “ผู้บังคับบัญชาสูงสุดแห่งหน่วยพิทักษ์ความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนและหน่วยทหารทั้งปวงของสเปน” เป็นผู้นำของบรรดาบุคคลที่ใช้วิธีทรมานผู้ที่ถูกกักตัวไว้ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อหนังสือพิมพ์ Egunkaria และ “เป็นผู้ที่ปกป้องการใช้วิธีทรมานและเป็นผู้ที่ใช้ระบอบราชาธิปไตยของตนกดขี่ประชาชนของเราโดยใช้การทรมานและความรุนแรง”

ในเดือนเมษายน 2003 รัฐมนตรีว่าด้วยกิจการสาธารณะได้ฟ้องผู้ร้องเป็นคดีอาญาฐาน “หมิ่นประมาทอย่างร้ายแรงต่อกษัตริย์” นายโอเตกี มอนดรากอน ได้ให้การว่า การดำเนินคดีกับตนกรณีข้อกล่าวหาเรื่องการใช้วิธีการทรมานดังกล่าวได้เริ่มขึ้นขณะที่มีการเผยแพร่หนังสือพิมพ์ [Egunkaria] และมีบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายคนได้ออกมาให้ความเห็นในกรณีนี้ด้วย 


ดังนั้น คำกล่าวที่ได้เผยแพร่ผ่านสื่อออกไปในความเห็นของผู้ร้องย่อมเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองของผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมืองภายในกรอบแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตน อันเป็นพื้นฐานสำหรับนิติรัฐและประชาธิปไตย

ในวันที่ 18 มีนาคม 2005 นายโอเตกี มอนดรากอน ถูกศาลพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด ศาลอุทธรณ์แห่งแคว้นบาสก์ โดยพิจารณาเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็น “การคุกคามอย่างเห็นได้ชัด ... และเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง” ศาลวินิจฉัยในที่สุดว่า คำกล่าวเช่นว่านี้เป็นการกล่าวแก่สาธารณะในบริบททางการเมืองและทางสถาบัน [ที่มีอยู่] “โดยไม่สอดคล้องกับหลักอันเป็นหัวใจพื้นฐานที่สุดแห่งศักดิ์ศรีของบุคคลซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยบทกฎหมายจากการกระทำละเมิดของผู้อื่น” รัฐมนตรีว่าด้วยกิจการสาธารณะยังได้ยื่นฎีกาในเวลาต่อมา โดยยืนยันหลักการที่จะให้เพิ่มการคุ้มครองพระเกียรติยศของกษัตริย์ให้มากยิ่งขึ้นซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ของผู้บัญญัติกฎหมาย รวมไปถึงหลักการที่ว่าด้วยสถานะอันจะล่วงละเมิดมิได้ของกษัตริย์ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 


สำหรับรัฐมนตรีว่าด้วยกิจการสาธารณะ คำกล่าวที่เป็นประเด็นในคดีนี้อาจพิจารณาได้ว่า “เป็นถ้อยแถลงแห่งความจงเกลียดจงชัง” ตามความหมายแห่งคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป เมื่อพิจารณาประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เชื่อมโยงกับการก่อวินาศกรรมของกลุ่มก่อการร้าย
ในวันที่ 31 ตุลาคม 2005 ศาลฎีกา [แห่งสเปน] พิพากษาลงโทษให้จำคุกผู้ร้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรงต่อกษัตริย์เป็นเวลา 1 ปีและมีคำสั่งระงับสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว


ในระหว่างนี้และให้ผู้ร้องชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นศาลทั้งหมด เนื่องจากศาลเห็นว่าคำกล่าวที่เป็นประเด็นในคดีมีลักษณะเป็นการประเมินค่า [คือเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้ร้องเอง] หาใช่เป็นการยืนยันถึงข้อเท็จจริงไม่ ซึ่งกรณีนี้กระทบต่อหลักอันเป็นหัวใจพื้นฐานที่สุดแห่งพระเกียรติยศของกษัตริย์ และไม่เกี่ยวข้องในทางใด ๆ กับบริบทซึ่งเป็นเหตุให้กล่าวถ้อยคำเหล่านั้นแต่อย่างใดเลย ศาลฎีกายังเห็นด้วยว่าข้อกล่าวหาว่ามีการใช้วิธีทรมานของผู้ร้องนั้นปราศจากพยานหลักฐานและคำกล่าวหาเช่นนี้ก็มิใช่ถ้อยคำที่อาจเป็นประเด็นถกเถียงทางการเมืองกับกษัตริย์ได้ อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาในองค์คณะนายหนึ่งแสดงความเห็นแตกต่างออกไป โดยเห็นว่าถ้อยคำของผู้ร้องมุ่งประเด็นในเรื่องบทบาทของกษัตริย์ในแง่สถาบันอันเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดทางทหารเท่านั้น

วันที่ 3 กรกฎาคม 2006 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่รับคำร้องกรณีผู้ร้องกล่าวอ้างการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง ด้วยเหตุว่าคำร้องปราศจากประเด็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นเนื้อหาในทางรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ในถ้อยคำของผู้ร้องที่เป็นปัญหานั้นมีลักษณะอันไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง เป็นการล่วงเกินและกล่าวร้าย ทั้งมุ่งต่อบุคคลสาธารณะอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เหตุผลที่ศาล [รัฐธรรมนูญ] อธิบายดังว่ามานี้ย่อมมีน้ำหนักยิ่งขึ้นเมื่อเป็นการมุ่งผลต่อกษัตริย์ซึ่ง “พ้นจากความรับผิดใด ๆ” ในทางรัฐธรรมนูญ และยังเป็น “สัญลักษณ์แห่งบูรณภาพและเสถียรภาพแห่งรัฐ” 


เมื่อพิจารณาบทบาทของพระองค์ในฐานะอัน “เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายและกำกับกลไกการบริหารงานตามธรรมเนียมปฏิบัติในสถาบันทั้งปวง” กษัตริย์ย่อมดำรงความเป็นกลางในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่าคำกล่าวของผู้ร้องแสดงถึงการล่วงละเมิดอย่างเห็นได้ชัดต่อกษัตริย์และต่อสถาบันอันพระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์ และกระทบต่อหลักอันเป็นหัวใจพื้นฐานที่สุดแห่งพระเกียรติยศของพระองค์ และด้วยเหตุนี้ถ้อยคำของผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากการใช้สิทธิตามกฎหมายในการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

โดยมีหนังสือแจ้งจากศาลอุทธรณ์แห่งแคว้นบาสก์ ผู้ร้องจึงได้รับการรอลงโทษอาญาภายในกำหนด 3 ปี ในการนี้ รัฐบาล [สเปน] แจ้งว่าได้ออกแถลงเป็นทางการเกี่ยวกับการรอลงอาญาของผู้ร้องไปแล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2009 ในขณะนี้ ผู้ร้องถูกควบคุมตัวไว้ชั่วคราวเนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาในคดีอื่น

ข้อกล่าวหา กระบวนพิจารณาและองค์คณะแห่งผู้พิพากษาในศาล

ผู้ร้องโต้แย้งคำพิพากษาซึ่งให้ลงโทษอาญาฐานหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรงต่อกษัตริย์โดยอ้างบทบัญญัติมาตรา 10

ผู้ร้องได้มาปรากฏตัวต่อหน้าศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2007


องค์คณะผู้พิพากษาผู้ทำคำวินิจฉัยมีรายนามดังต่อไปนี้
Jesep Casadevall (แอนดอรา), ประธาน,
Corneliu Bîrsan (โรมาเนีย),
Alvina Gyulumyan (อาร์เมเนีย),
Ján Šikuta (สโลวาเกีย),
Luis López Guerra (สเปน),
Nona Tsotsaria (จอร์เจีย),
Mihai Poalelungi (มอลโดวา), คณะผู้พิพากษา
และ de Santigo Quesada, ผู้รับผิดชอบสำนวน


คำวินิจฉัยของศาล [สิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป]
มาตรา 10

[ในประเด็นที่ว่าด้วย] การใช้อำนาจองค์กรของรัฐจำกัดสิทธิตามกฎหมายในการแสดงความคิดเห็นของผู้ร้องซึ่งเป็นอำนาจที่ใช้เพื่อพิจารณาและพิพากษาลงโทษ [ผู้ร้อง] ในคดีนี้ ย่อมมีเหตุอันชอบตามกฎหมายโดยเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งป้องปรามการกระทำอันเป็นการหมิ่นประมาทต่อกษัตริย์ การใช้อำนาจเช่นว่านี้จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมายในอันที่จะปกป้องพระเกียรติยศแห่งกษัตริย์สเปน

[ส่วนประเด็น] คำกล่าวของผู้ร้องซึ่งได้กระทำในฐานะสมาชิกรัฐสภาและโฆษกของกลุ่มสมาชิกรัฐสภานั้น ย่อมเกี่ยวด้วยประเด็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะของแคว้นบาสก์ กล่าวคือ [เป็นถ้อยคำที่ผู้ร้องกล่าว] ในกรณีผู้นำรัฐบาลแคว้นบาสก์จัดพิธีต้อนรับกษัตริย์สเปนซึ่งเสด็จเยือนอย่างเป็นทางการ ภายหลังที่ได้มีการปิดสำนักงานของหนังสือพิมพ์ Egunkaria ได้ไม่นานและกล่าวหากษัตริย์สเปนต่อสาธารณะว่าจะต้องรับผิดชอบต่อการใช้วิธีการทรมาน [ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปเห็นว่า] อำนาจซึ่งองค์กรรัฐจะสามารถใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ร้องย่อมจะมีขอบเขตในส่วนที่เกี่ยวกับถ้อยแถลงหรือการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ด้วยเหตุว่า เสรีภาพในเรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้เป็นสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของบรรดาผู้ลงคะแนนเสียงให้แก่ตน ยิ่งไปกว่านั้น หากคำวิพากษ์วิจารณ์มุ่งต่อบุคคลสาธารณะทางการเมืองด้วยแล้ว ขอบเขต [เนื้อหาของคำวิพากษ์วิจารณ์] อันอาจเป็นที่ยอมรับกันได้ [สำหรับบุคคลสาธารณะทางการเมืองเช่นนั้น] ย่อมมีได้กว้างขวางยิ่งกว่า [เนื้อหาของคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อ] บุคคลทั่วไป เนื่องจากเป็นการแสดงออกตามปกติวิสัยและได้ตระหนักแล้วว่าได้กระทำต่อหน้าบรรดาสื่อมวลชนและต่อสาธารณะนั่นเอง

ศาลฎีกา [สเปน] ได้พิจารณาว่า คำกล่าวที่เป็นปัญหานั้นเป็นการประเมินค่าและมิใช่การยืนยันถึงข้อเท็จจริง ศาลได้กล่าวแล้วว่า แม้ถ้อยแถลงใด ๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นการประเมินค่า ถ้อยแถลงนั้นจักต้องวางอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่เพียงพอ [แก่กรณี] เพื่อมิให้เกินเลยไปจากความเป็นจริงด้วย ในเรื่องนี้ [ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปเห็นว่า] คำกล่าวของผู้ร้องมีประเด็นเกี่ยวข้องเพียงพอกับข้ออ้างเรื่องการใช้วิธีการทรมาน ซึ่งได้เผยแพร่ต่อสาธารณะโดยบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Egunkaria นอกจากนี้ ถ้อยคำของนายโอเตกี มอนดรากอนยังอาจพิจารณาได้ว่า อยู่ในขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์ในทางการเมืองซึ่งขยายความออกไปสู่ความรับผิดชอบอันอาจมีขึ้นได้แก่หน่วยงานความมั่นคงของรัฐในกรณีใช้วิธีการทรมานดังกล่าว

หากศาล [สเปน] ยอมรับว่า การใช้ถ้อยคำของผู้ร้องอาจพิจารณาได้ว่าเป็นการกล่าวยั่วยุคุกคาม ศาลเองก็อ้างเหตุผลอยู่ด้วยว่าในบริบทการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวด้วยประโยชน์สาธารณะนั้นอาจเป็นไปได้เช่นกันที่ในบางกรณีอาจจะใช้ถ้อยคำก้าวล่วงหรือแม้อาจมีลักษณะยั่วยุคุกคามอยู่บ้าง และในขณะเดียวกัน จะต้องมิได้มีลักษณะอันเกินเลยจากข้อจำกัดอันมีขึ้นเพื่อคุ้มครองชื่อเสียงและสิทธิประการต่าง ๆ ของบุคคลอื่นด้วย [ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปเห็นว่า] หากการใช้ถ้อยคำในบางลักษณะจะกล่าวความมีนัยเชิงลบและเป็นปฏิปักษ์ต่อกษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบัน [ต้นฉบับ : brosser un tableau negatif et hostile du roi en tant qu’institution] กรณีนี้ย่อมหาใช่การยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงหรือเป็นถ้อยคำที่แสดงความจงเกลียดจงชังซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในคำพิพากษาของศาล [สเปน] เองไม่ 


นอกจากนี้ การพิจารณาให้ลงโทษผู้ร้องก็มิได้มีฝ่ายใดหยิบยกมูลเหตุที่ว่านี้ขึ้นกล่าวอ้างแต่อย่างใด ไม่ว่าจะในศาลชั้นใดหรือจากฝ่ายรัฐบาลเองก็ตาม อนึ่ง ข้อกล่าวหาด้วยวาจาต่อหน้าบรรดาสื่อมวลชนในลักษณะเช่นนี้ [ผู้ร้อง] ย่อมจะกล่าวหาใหม่อีกครั้งมิได้ฉันใด หากประสงค์จะถอนคำกล่าวหาเหล่านั้น [ผู้ร้อง] ก็ย่อมจะกระทำมิได้ฉันนั้น เช่นกัน

ศาล [สิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป] พิจารณาเห็นว่า หลักการที่ปรากฏอยู่ในคำวินิฉัยสำหรับคดีก่อนหน้า2ในปัญหาว่าด้วยการให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดแก่การคุ้มครองบรรดาประมุขแห่งรัฐนั้นย่อมมีผลใช้บังคับได้ในกรณีระบอบราชาธิปไตยเช่นที่เป็นอยู่ในสเปนซึ่งพระองค์ดำรงสถานะในทางสถาบันอันมีลักษณะพิเศษ แม้ว่ากษัตริย์สเปนทรงดำรงพระองค์เป็นกลางในทางการเมือง ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐ [แต่] สถานะซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายนี้ย่อมมิอาจปกป้องพระองค์จากข้อวิจารณ์อันชอบธรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างรัฐธรรมนูญในรัฐ [สเปน] ได้ ศาลอุทธรณ์แห่งแคว้นบาสก์ได้อ้างเหตุผลในเรื่องนี้ไว้ว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นย่อมมีได้ในกรณีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างเช่นว่านี้ ศาล [สิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป] ยืนยันว่า เสรีภาพดังว่านี้ย่อมมีค่ามากยิ่งขึ้นไปอีกในกรณีการแสดงความคิดเห็นที่กระทบอย่างรุนแรงหรือคัดค้านต่อระบบที่มีอยู่ [ต้นฉบับ : Cette liberté, …, est d’autant plus précieuse dans le cas d’idées qui choquent et contestent l’ordre établi] ข้อเท็จจริงที่ว่า กษัตริย์ย่อมปราศจากความรับผิดใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรับผิดในทางอาญาโดยผลของรัฐธรรมนูญสเปนซึ่งบัญญัติไว้แล้ว จะให้มีผลรวมถึงเป็นการจำกัดคำวิพากษ์วิจารณ์โดยอิสระต่อความรับผิดของกษัตริย์อันอาจมีขึ้นได้ในเชิงสถาบันหรือแม้ในทางสัญลักษณ์ด้วยนั้นหาอาจจะกระทำได้ไม่ ทั้งนี้ ภายในขอบเขตอันเป็นไปเพื่อปกป้องพระเกียรติยศในฐานะที่ [พระองค์ทรง] เป็นบุคคลด้วย

ศาล [สิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป] พิจารณาเห็นว่า คำกล่าวของผู้ร้องอันเป็นประเด็นในคดีนี้หาได้ก่อความเสียหายเป็นการส่วนพระองค์แก่สถานะบุคคลของกษัตริย์ไม่ อีกทั้งมิได้เป็นคำกล่าวหาในด้านชีวิตส่วนพระองค์3 หรือพระเกียรติยศส่วนพระองค์แต่อย่างใด ในประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์แห่งแคว้นบาสก์พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำกล่าวของผู้ร้องในบริบททางการเมืองอันเป็นการสาธารณะแล้วย่อมขัดต่อ “หลักอันเป็นหัวใจพื้นฐานที่สุดแห่งศักดิ์ศรีของบุคคล” [แต่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปเห็นว่า] ถ้อยคำที่กล่าวโดยผู้ร้องย่อมมุ่งต่อความรับผิดของกษัตริย์ในแง่สถาบันแต่เพียงสถานเดียว ทั้งในฐานะประมุขและสัญลักษณ์แห่งองค์กรรัฐ 


อีกทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่ซึ่งตามความเห็นของผู้ร้องได้ใช้วิธีการทรมานแก่บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสำนักพิมพ์ Egunkaria คำกล่าวในลักษณะนี้จึงมิใช่ข้อกล่าวหาว่า กษัตริย์มิได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นทางการของพระองค์ หรือเป็นคำกล่าวหาพระองค์ในประเด็นใดประเด็นหนึ่งทางอาญาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ศาล [สิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป] มีข้อสังเกตเกี่ยวกับน้ำหนักโทษที่รุนแรงเป็นพิเศษในกรณีนี้ด้วย กล่าวคือ โทษจำคุก 1 ปีและการจำกัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งในระหว่างเวลาที่ได้รับโทษ หากว่าโดยหลักการแล้ว อำนาจในการกำหนดโทษทางอาญาเป็นอำนาจของศาลแห่งรัฐหนึ่ง ๆ การให้ลงโทษจำคุกกรณีความผิดอันเกี่ยวกับถ้อยแถลงในทางการเมืองใด ๆ จะถือว่าไม่ขัดกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็แต่เฉพาะเป็นกรณีอันร้ายแรงอย่างยิ่งยวดในลักษณะการกล่าวถ้อยคำแสดงความจงเกลียดจงชังหรือยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงเท่านั้น4 โทษจำคุกซึ่งโดยทั่วไปย่อมจะมีผลเป็นการกำราบการกระทำความผิดมิให้เกิดขึ้นได้อีกจึงไม่อาจนำมาใช้อ้างสนับสนุนการกำหนดโทษในคำพิพากษา [ของศาลสเปน] ดังกล่าวได้เลย 


ด้วยเหตุว่า แม้หากจะมีการลงโทษจริงแล้วก็สามารถจะบรรเทาความร้ายแรงในสถานการณ์ของผู้ร้องได้ก็ตาม การกำหนดให้ผู้ร้องต้องรอลงโทษทางอาญาเช่นนี้คงมิได้ลบล้างผลแห่งคำพิพากษาที่ให้ลงโทษผู้ร้องหรือแม้แต่ลบล้างผลที่ตามมาจากการ [ที่ผู้ร้อง] ถูกขึ้นทะเบียนประวัติอาชญากรรมแต่ประการใดเลย

ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ แม้จะพิจารณาได้ว่าเหตุผลประการต่าง ๆ ที่ศาลสเปนได้ยกขึ้นวินิจฉัยนั้นเป็นการชอบแล้วก็ดี เหตุผลทั้งหลายเหล่านั้นยังหาเพียงพอในอันที่จะแสดงให้เห็นว่า การใช้อำนาจศาลที่ผู้ร้องกล่าวโทษขึ้นนี้จะเป็นกรณีอัน “จำเป็นในสังคมประชาธิปไตย” ไม่ ดังนี้ คำพิพากษาให้ลงโทษผู้ร้องจึงมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ กล่าวคือ เป็นการขัดกับบทบัญญัติในมาตรา 10 [แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป] นั่นเอง

มาตรา 14
เมื่อพิเคราะห์เหตุผลโดยสรุปอันเกี่ยวด้วยบทบัญญัติมาตรา 10 แล้ว ศาลพิจารณาเห็นว่า ไม่จำต้องวินิจฉัยแยกประเด็นคำร้องที่อ้างถึงบทบัญญัติมาตรา 14 ประกอบกับมาตรา 10 ของผู้ร้องเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด

มาตรา 41
อาศัยเหตุอันเหมาะสมเพื่อเยียวยาแก่กรณี ศาลมีคำสั่งให้รัฐสเปนจ่ายเงินค่าเสียหายเป็นจำนวน 20,000 ยูโร และอีก 3,000 ยูโร เป็นค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นศาลแก่ผู้ร้อง

คำวินิจฉัย [ต้นฉบับ] ได้ทำขึ้นเป็นภาษาฝรั่งเศส.
-------------------------------------------
1. ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 43 และ 44 แห่งสนธิสัญญา [ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน] คำวินิจฉัยฉบับนี้ยังไม่เป็นที่สุด กล่าวคือ ภายในกำหนด 3 เดือนนับจากวันมีคำวินิจฉัย คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุด (la Grande Chambre) ให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้ ในกรณีนี้ คณะผู้พิพากษาจำนวน 5 นายจะตรวจคำร้องว่ามีเหตุอันควรพิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยหรือไม่ หากมีมติรับไว้พิจารณา ศาลสูงสุดจะมีอำนาจพิจารณาทบทวนและคำพิพากษาของศาลในกรณีนี้ย่อมเป็นที่สุด แต่ในกรณีไม่มีเหตุรับไว้พิจารณา คำวินิจฉัยย่อมมีผลเป็นที่สุดในวันที่องค์คณะผู้พิพากษาผู้ตรวจคำร้องมีมติไม่รับคำร้อง และเมื่อคำวินิจฉัยมีผลเป็นที่สุดก็จะถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการรัฐมนตรีแห่งสภายุโรปซึ่งมีหน้าที่บังคับการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย หากประสงค์ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการะบวนการบังคับ ให้ดูใน http://www.coe.int/t/dghl/monitoring/execution. 

2. ให้ดูคำวินิจฉัยในคดี Colombani et autres c. France (25.06.2002) ซึ่งเป็นประเด็นว่าด้วยการยกเว้นไม่ใช้บทบัญญัติกฎหมายแก่บรรดาประมุขแห่งรัฐต่างประเทศอันเป็นเหตุให้ประมุขของรัฐต่างประเทศพ้นไปจากการวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ส่วนประเด็นการให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดแก่การคุ้มครองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐในคดีแพ่ง ให้ดู Pakdemirli c. Turquie (22.02.2005)

3. ในทางตรงกันข้าม ให้ดูคำวินิจฉัย Standard Verlags GmbH c. Autrich (no.2) (04.06.2009) เกี่ยวกับบางประเด็นในด้านชีวิตส่วนบุคคลของประธานาธิบดีแห่งออสเตรีย ; คดี Von Hannover c. Allemagne, ซึ่งเกี่ยวกับการเผยแพร่ภาพชีวิตส่วนพระองค์ของเจ้าหญิง Caroline von Hannover และเจ้าชาย Ernst August von Hannover พระสวามี ลงในหนังสือพิมพ์

4. ให้ดูเอกสารของคณะกรรมาธิการรัฐมนตรีและของที่ประชุมสภาคณะมนตรีแห่งยุโรปว่าด้วยโทษจำคุกที่เกี่ยวข้องกับถ้อยแถลงต่าง ๆ ในทางการเมือง (คำประกาศว่าด้วยเสรีภาพแห่งถ้อยแถลงทางการเมืองที่ปรากฏในสื่อมวลชน, รับรองโดยคณะกรรมาธิการรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2004 / มติลำดับที่ 1577 (2007) ของที่ประชุมสภา : “แนวโน้มที่จะจำกัดการลงโทษทางอาญาในกรณีมีการกล่าวถ้อยคำอันก่อความเสียหาย”)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น