ทีโอที’ไม่สน‘จุติ’ ไม่ฟ้องAIS! รัฐมนตรีไอซีทีจุ้น-วุ่นหนัก!! บอร์ดเฮโลลาออก 6 คนรวด http://www.internetfreedom.us/thread-16010.html ทีโอที’ไม่สน‘จุติ’ ไม่ฟ้องAIS! รัฐมนตรีไอซีทีจุ้น-วุ่นหนัก!! บอร์ดเฮโลลาออก 6 คนรวด วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2554 11:27 น. ท่าทีกระเหี้ยนกระหือรืออย่างมากของนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในการที่จะให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีการฟ้องร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรียกค่าเสียหาย 75,000 ล้านบาท ถึงขนาดทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เร่งรัดดำเนินการตามกฎหมาย ให้เสร็จสิ้นก่อนที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 28 ก.พ.2554 ระบุด้วยว่า หากดำเนินการไม่ทัน ถือว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มุ่งมั่นที่จะรักษาผลประโยชน์ของรัฐ อาจส่งผลให้ดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ข้ออ้างในการเร่งรัดให้ฟ้องก็คือ คำพิพากษาศาล ฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2553 ให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นของแผ่นดิน และมีคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานมือถือ ซึ่ง ทีโอที และ กสท ได้รับความเสียหายจากการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งการตั้งธง เดินหน้าของนายจุติได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการเมืองหรือไม่??? เพราะทุกวันนี้ที่บ้านเมืองวุ่นวาย ยังคงไม่มีคำตอบว่า ปัญหาทุกวันนี้จะจบอย่างไร ก็ล้วนมาจากการมุ่งทำลายล้างทางการเมืองนั่นเอง ซึ่งในเรื่องของการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่มีกลุ่มขั้วอำนาจใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกันใช่หรือไม่?? เพราะเรื่องขึ้นหลังจากมีการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเกิดขึ้นหลังจากที่มีการตั้งคณะบุคคลที่ยืนอยู่คนละขั้วกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นมาเป็น คตส. ทั้งๆที่สัญญาสัมปทานมือถือ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมากว่า 20 ปีแล้ว และทำรัฐประหารมา 4 ปีกว่าแล้วแต่เรื่องนี้ก็ยังคงถูกเล่นไม่เลิก โดยเป็นผลมาจากการเปิดประเด็นของ นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าการแก้ไขสัญญาของบริษัทเอกชนอาจผิดกฎหมาย และคำให้การของนายสิทธิชัยนี่แหละที่ คตส. ใช้เป็นน้ำหนักมากที่สุดในการเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทาน แต่ก็เป็นที่น่าสังเกคุว่า จริงๆแล้วเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานนั้น ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 4 ค่าย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน)หรือดีแทค บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัดหรือดีพีซี และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ล้วนแล้วแต่ก็แก้ไขสัญญาด้วยกันทั้งนั้น ทำไมจึงดูเหมือนว่า มีการมุ่งเล่นงานเฉพาะ เอไอเอส เป็นหลักเพียงรายเดียว??? และข้อกล่าวหาก็คือไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการร่วมการงานระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2535 ซึ่งในความเป็นจริงสัมปทานมือถือของเอไอเอส ได้ทำสัญญากับ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เมื่อมีนาคม 2533 ส่วนสัมปทานของดีแทค ก็ได้ทำสัญญากับ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ไล่หลังเอไอเอสแค่ 8 เดือน โดยทำสัญญาเมื่อ พฤศจิกายน 2533 เป็นการทำสัญญาก่อนที่จะมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการร่วมการงานระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2535 และเป็นการตกลงสัญญากันระหว่างบริษัทเอกชนกับหน่วยงานของรัฐ คือภายใต้สัญญาของ การสื่อสารแห่งประเทศไทย และภายใต้สัญญาของ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นทั้ง มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล หรือ Regulator ในระบบสื่อสารโทรคมนาคมของไทย ประเด็นที่เป็นปัญหา และถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ แม้จะทำสัญญากันมาก่อนที่จะมีกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการร่วมการงานระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2535 และเป็นสัญญาที่มีสภาพบังคับอย่างถูกต้อง เพราะกฎหมายไม่ไปย้อนหลัง แต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาในภายหลังจากที่มีกฎหมายร่วมการงานฯ ปี 2535 แล้ว จึงต้องเล่นงาน สิ่งที่นายจุติ และรัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่พยายามที่จะพูดถึงก็คือ การแก้ไขสัญญาสัมปทานนั้น เป็นเรื่องที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ผลักดันมาตลอด เพราะอ้างว่าได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบธุรกิจ และต้องการจัดระเบียบสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งรายเก่าและรายใหม่ให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งจริงๆแล้วควรจะมีการออกแก้ไขเสร็จในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2543 แต่เพราะสไตล์ “ชวน เชื่องช้า” จึงทำให้เรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานตกค้าง และมาเสร็จในสมัยรัฐบาลทักษิณ จึงกลายเป็นประเด็นที่นำมาใช้เล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าแก้ไขสัมปทานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจตนเอง โดยไม่พูดถึงเลยว่า ใครกันที่ชงเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก ซึ่งก็คล้ายกับกรณี เซ็น MOU กับกัมพูชานั่นเอง ที่มีการใช้สื่อตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ข้อมูลว่า เป็น MOU ที่เซ็นสมัยรัฐบาลทักษิณ แม้ว่าจะมีการหยิบยกหลักฐานมาว่าเป็น MOU ที่เซ็นในปี 2543 ซึ่งเป็นสมัยรัฐบาลชวน แต่ก็ยังมีการเบี่ยงเบนผ่านสื่อของกลุ่มม็อบไล่รัฐบาลทักษิณว่า ต้องเรียก MOU ปี 44 จนสุดท้ายเมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว ขัดแย้งกันเองแล้วนั่นแหละ กลุ่มม็อบจึงหันกลับมาเรียกเป็น MOU ปี 43 และใช้อัดรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ในขณะนี้ ว่าเป็น MOU ขายชาติและทำให้เสียดินแดนไทย ดังนั้นในเรื่องของการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทาง เอไอเอส ปรากฏว่า การแก้ไข 6 ครั้งแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2536 – 2543 ซึ่งไม่ได้เป็นช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นรัฐบาลเลย มีเพียงการแก้ไขในครั้งที่ 7 เท่านั้นที่เกิดขึ้นในปี 2544 แต่เพราะว่า แนวทางของ นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ไม่เพียงสอดคล้องกับความต้องการของ คตส. แต่ยังสอดคล้องกับท่าทีของ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่โดดเข้ามาเป็นประธานกรรมการ บริษัท ทีโอที ด้วยตนเอง และยังตั้งให้ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน เข้ามาเป็นประธานเจรจาการแก้สัญญาของ เอไอเอส ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นที่มาที่ไปของกรณีสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งกลายเป็นมหากาพย์ที่ปั่นป่วนลากยาว เพราะว่าวันนี้ ทั้ง องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และการสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้กลายสภาพจากหน่วยงานรัฐ ไปเป็น บริษัท จำกัด มหาชน หมดแล้ว ซึ่งหากเทียบเคียงกับกรณี การปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นหน่วยงานรัฐทำหน้าที่ Regulator ด้านพลังงาน แต่พอแปลงสภาพไปเป็น บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) หมวกในการทำหน้าที่ Regulator ก็ถูกถอดไป คำถามก็คือ แล้ว บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และบริษัท กสท จำกัด(มหาชน) ยังควรจะต้องมีหมวก Regulator อยู่ต่อไปหรือไม่??? ประเด็นเหล่านี้นายจุติ ไกรฤกษ์ คงไม่ได้สนใจ เพราะมั่งแต่จะไล่บี้เฉพาะ เอไอเอส เป็นหลัก ถึงขนาดที่ทำหนังสือด่วนที่สุด จี้ให้ทั้ง ทีโอที และ กสท เร่งฟ้องให้เร็วที่สุด แน่นอนว่าหนังสือดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนาๆ มีทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย มีทั้งที่อึดอัด และมีทั้งที่เด้งรับสนองความต้องการของนายจุติ เพราะหลังจากที่ได้รับหนังสือเร่งรัก นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ประธานบอร์ดของ กสท ก็ได้เรียกระชุมบอร์ดเป็นการด่วน สุดท้ายเมื่อวันที่ 25 ก.พ. ตัวแทนบริษัท กสท โทรคมนาคม ก็ได้ไปศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี ยุคที่พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2546 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 506/2554 อ้างคำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ กรณีการแปลงส่วนแบ่งรายได้เป็นภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม จนทำให้ กสท เสียหายมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายสถาพร เอียดใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายคดี กสท ยอมรับว่า การยื่นฟ้องดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของนายจุติ ไกรฤกษ์ !!! แต่ขณะเดียวกัน ทางบริษัท ทีโอที กลับเกิดเรื่องปั่นป่วนขึ้นมา เพราะความต้องการและท่าทีของนายจุติ ได้ทำให้คณะกรรมการของ ทีโอที หลายคนรู้สึกอึดอัด จนสุดท้ายเมื่อถูกเร่งรัด จี้ติดมากๆเข้า กรรมการของ ทีโอทีบางคน จึงเลือกที่จะตัดสินใจลาออก ดีกว่าที่จะรับเผือกร้อนเอาไว้ในมือ ทำให้รอบแรก มีบอร์ด ทีโอที ตัดสินใจลาออกก่อน 3 คน ประกอบด้วย นายวันชาติ สันติกุญชร รองอธิบดีอัยการสูงสุด นางวณี ทัศนมณเฑียร รองอธิบดีกรมสรรพากร นางนุชนารถ ปัณฑวังกูร กรรมการจากบริษัทวิริยะประกันภัย ถัดมาอีกวัน นายวีรไท สันติประภพ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนายชิต เหล่าวัฒนา อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็ลาออกตามมาอีก ซึ่งการที่คณะกรรมการ ทีโอที ซึ่งมีอยู่ 12 คน ลาออกติดต่อกันถึง 5 คน จนทำให้บอร์ดเหลือเพียง 7 คน แม้จะอ้างว่ายังสามารถประชุมได้ ลงมติได้ เพราะยังถือว่าครบองค์ประชุมได้อยู่นั้น แต่ในแง่ของความสง่างาม ในแง่ของการยอมรับจากสังคม และในแง่ของหลักธรรมาภิบาล ก็เป็นเรื่องที่กลายเป็นรอยด่างไปแล้ว เป็นเรื่องที่นายจุติ ในฐานะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ในฐานะที่ทำหนังสือเร่งรัดไป ควรจะต้องฉุกใจคิดว่าเกิดอะไรขึ้น??? บรรดาบุคคลที่เป็นบอร์ด ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับในสังคม ทำไมถึงได้ลาออกกันเป็นพรวนเช่นนี้... ทุกคนอึดอัดอะไรหรือ??? สิ่งเหล่านี้นายจุติจะไม่คิดไม่ได้ และจะมองข้ามก็ไม่ได้ด้วย เพราะล่าสุด นายสายัณห์ สตางค์มงคล ก็ได้ลาออกจากเป็นกรรมการทีโอทีแล้วอีกหนึ่งคน ถือเป็นการลาออกคนที่ 6 จากก่อนหน้าที่ได้ลาออกไปแล้ว 5 คน ทำให้บอร์ดทีโอที เหลือเพียงแค่ 6 คนเท่านั้น จาก 12 คน ที่สำคัญล่าสุด นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม บอร์ดทีโอที ออกมาบอกแล้วว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท ทีโอที มีมติไม่ฟ้องเอไอเอส !!! แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการเจรจาการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีนางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เป็นประธาน รวมทั้งที่ประชุมยังมีมติไม่ฟ้องศาลให้เป็นคดีความกับบริษัท กสท โทรคมนาคม เกี่ยวกับค่าเชื่อมโครงข่าย (เอซี) แต่จะยื่นฟ้องต่อกระทรวงการคลังตามมาตรา 11 ผลออกมาแบบนี้ นายจุติ ควรจะต้องทบทวนหรือไม่ว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น กระทั่งบอร์ด ทีโอที ลาออก 6 คนรวดนั้น เกิดขึ้นเพราะฝีมือใคร??? และเกมทำลายล้างทางการเมืองจะจบลงได้เสียทีหรือยัง? หรือต้องให้ประเทศชาติยุ่งเหยิงไปยิ่งกว่านี้?! http://www.bangkok-today.com/node/8473 |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น