วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

นิติราษฏร์ ฉบับ ๑๙ ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112
http://thaienews.blogspot.com/2011/04/112_20.html

โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล กลุ่มนิติราษฎร์
ที่มา นิติราษฏร์ ฉบับ ๑๙ (ปิยบุตร แสงกนกกุล) 

เผยแพร่ที่ไทยอีนิวส์
วันที่ 20 เมษายน 2554


“แม้ผู้ประเสริฐที่สุด ภายหลังจากที่เขาตายแล้ว เขาก็ยังไม่อาจได้รับการสรรเสริญเกียรติคุณได้ จนกว่าทุกเรื่องราวที่บรรดาปีศาจได้กล่าวโจมตีเขานั้นจะเป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน และได้รับการพิจารณาวินิจฉัยเสียก่อน” John Stuart Mill, On Liberty, 1859.
ข้ออ้างที่ ๑ มาตรา ๑๑๒ ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเทศอื่นๆที่เป็นประชาธิปไตยก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้
กฎหมายว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของ รัฐมีอยู่จริงในหลายประเทศ สำหรับประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทประธานาธิบดี สำหรับประเทศที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่กฎหมายของประเทศเหล่านั้นแตกต่างจากมาตรา ๑๑๒ อย่างสิ้นเชิง บางประเทศมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ไม่เคยนำมาใช้หรือไม่นำมาใช้นานแล้ว บางประเทศอาจนำมาใช้เป็นครั้งคราว แต่ก็เพียงลงโทษปรับ และทุกประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ล้วนแล้วแต่กำหนดโทษต่ำกว่ามาตรา ๑๑๒ มาก1

ข้ออ้างที่ ๒ นำมาตรา ๑๑๒ ไปเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศไม่ได้ เพราะสถาบันกษัตริย์ของเรามีบารมีและลักษณะพิเศษ 
คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้อาจเห็นกันว่า สถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง เปี่ยมด้วยบารมี เมตตาและคุณธรรม มีพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรที่ดีงาม และพสกนิกรชาวไทยล้วนแล้วแต่จงรักภักดี คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้จึงยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีลักษณะพิเศษ ไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ของประเทศอื่นได้ ต่อให้เรายอมรับว่าจริง แต่ความพิเศษเช่นว่าก็ไม่อาจนำมาเป็นเหตุให้กำหนดโทษสูงในความผิดฐานหมิ่น ประมาทกษัตริย์ หรือนำกฎหมายนี้มาใช้เพื่อทำลายล้างกัน นอกจากนี้ ในเมื่อยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง และคนไทยจงรักภักดีอย่างถึงที่สุดจนยากจะหาที่ใดมาเสมอเหมือนแล้วล่ะก็ กฎหมายแบบมาตรา ๑๑๒ ยิ่งไม่มีความจำเป็น

ข้ออ้างที่ ๓ บุคคลทั่วไปมีกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทคุ้มครองเกียรติยศและชื่อเสียง แล้วจะไม่ให้กษัตริย์มีกฎหมายคุ้มครองเช่นนี้บ้างหรือ? 
ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ดำรงตำแหน่งใด ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาเกียรติยศและชื่อเสียงของตน แน่นอนว่าต้องมีกฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทเพื่อคุ้มครองเกียรติยศและชื่อ เสียงของกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ แต่กฎหมายเช่นว่านั้นต้องไม่มีความพิเศษหรือแตกต่างจากกฎหมายความผิดฐาน หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา หรือหากจะแตกต่างก็ต้องไม่แตกต่างมากจนเกินไป แต่กรณีมาตรา ๑๑๒ นั้น ลักษณะของความผิด (พูดทำให้ผู้อื่นเสียหาย) ไม่ได้สัดส่วนกับโทษ (จำคุก ๓ ปี ถึง ๑๕ ปี) อยู่ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษ

ข้ออ้างที่ ๔ ต่อให้มีบุคคลใดถูกลงโทษตาม ๑๑๒ แต่ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษอยู่ดี 
มีหลายคดีที่จำเลยรับโทษจำคุก ต่อมาได้ขอพระราชทานอภัยโทษและในท้ายที่สุดก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ก็มีอีกหลายคดีที่จำเลยไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือได้รับพระราชทาน อภัยโทษเมื่อเวลาล่วงผ่านไปนานแล้ว เคยมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นชาวต่างชาติและขอพระราชทานอภัยโทษ เวลาผ่านไปไม่นานนัก ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ (เช่น กรณีนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์และนายแฮร์รี่ นิโคไลดส์) แต่กรณีอื่นๆ ต้องใช้เวลานานพอสมควรถึงจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ (เช่นกรณีนายสุวิชา ท่าค้อ) ซึ่งอาจให้เหตุผลได้ว่าแต่ละกรณีมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป แต่ถึงกระนั้น นั่นก็หมายความว่า จำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องแน่นอนและเสมอกันทุกกรณี ยิ่งไปกว่านั้น การที่จำเลยถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด, การที่จำเลยถูกตัดสินว่าผิด ต้องโทษจำคุก แต่รอลงอาญา, การที่จำเลยถูกตัดสินว่าผิดและต้องโทษจำคุก ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ทั้ง ๓ กรณีนี้มีผลทางกฎหมายไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ นักวิชาการยังได้หยิบยกสถิติจำนวนคดีแล้วสรุปว่าจำนวนคดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา ๑๑๒ มีน้อยว่า “ตั้งแต่ มีกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.๒๔๕๑ มาจนถึงการใช้ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับปัจจุบัน ตลอดเวลากว่า ๑๐๐ ปี มีคำพิพากษาศาลฎีกาเพียง ๔ เรื่อง...”2 ข้อสรุปนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะตัวเลขนั้นเป็นจำนวนคดีที่ศาลฎีกาตัดสิน ต้องเข้าใจว่า คดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา ๑๑๒ นี้ ในหลายกรณี จำเลยไม่ต้องการต่อสู้คดี เพราะประเมินว่าสู้ไปจนถึงชั้นศาลฎีกา ผลของคดีคงไม่ต่างกัน จำเลยจึงตัดสินใจยอมรับโทษตั้งแต่คำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้คำพิพากษาถึงที่สุด และขอพระราชทานอภัยโทษต่อไป ด้วยเหตุนี้จำนวนคดีเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจึงมีจำนวนน้อย แต่หากลงไปตรวจสอบจำนวนคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ หรือจำนวนคดีที่อยู่ในชั้นตำรวจหรืออัยการ หรือจำนวนผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยถูกจับกุมคุมขังเพื่อรอการพิพากษาของศาล แล้ว จะเห็นได้ว่ามีจำนวนมาก และมีมากขึ้นนับแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

ข้ออ้างที่ ๕ ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ 

โดยลักษณะของความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ ต่อบูรณภาพ และต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เป็นกรณีที่เกิดจากการพูดแล้วทำให้กษัตริย์เสียหาย ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงการดำรงอยู่ของกษัตริย์ ไม่ใช่กรณีประทุษร้ายหรือปลงพระชนม์กษัตริย์ และไม่ใช่การเปลี่ยนรูปแบบของราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ จึงไม่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ

ข้ออ้างที่ ๖ ในเมื่อรู้ผลร้ายของการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๒ แล้ว ก็จงหลีกเลี่ยงไม่ทำความผิดหรือไม่เสี่ยงไปพูดถึงกษัตริย์เสียก็สิ้นเรื่อง 
เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา ๑๑๒ นี้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาในตัวมันเอง ทั้งในทางตัวบทและทั้งในการบังคับใช้ เป็นกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างยิ่ง ก็ต้องยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ไม่ใช่เห็นว่ามาตรา ๑๑๒ มีโทษร้ายแรง ก็จงอย่าไปเสี่ยง เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง ข้ออ้างแบบนี้ ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่า ไฟนั้นร้อน อาจลวกมือได้ ก็จงอย่าใช้ไฟนั้น

ข้ออ้างที่ ๗ ในทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีเรื่องต้องห้าม เรื่องอ่อนไหวที่ห้ามพูดถึงหรือไม่ควรพูดถึง 
ซึ่งเรื่องต้องห้ามนั้นก็แตกต่างกันไป ของไทยก็คือเรื่องสถาบันกษัตริย์ จริงอยู่ที่แต่ละประเทศก็มีเรื่องต้องห้าม แต่หากสำรวจเรื่องต้องห้ามในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายแล้ว จะเห็นได้ว่าเรื่องต้องห้ามเหล่านั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ เช่น กรณีในเยอรมนีและหลายประเทศในยุโรป บุคคลไม่อาจพูดหรือแสดงความเห็นไปในทิศทางสนับสนุนฮิตเลอร์หรือนาซี หรือให้ความชอบธรรมแก่การกระทำของนาซีได้มากนัก กรณีหลายประเทศ บุคคลไม่อาจพูดหรือแสดงความเห็นไปในทางเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เหยียดศาสนาได้ แต่กรณีของไทย เรื่องห้ามพูด คือ กรณีสถาบันกษัตริย์ วิญญูชนโปรดพิจารณาว่าเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่

ข้ออ้างที่ ๘ ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เป็นเรื่องอ่อนไหว กระทบจิตใจของคนไทยทั้งชาติ สมควรให้กระบวนการยุติธรรมจัดการดีกว่า 
หากไม่มีกระบวนการยุติธรรมจัดการแล้ว อาจส่งผลให้คนในสังคมลงโทษกันเอง หากจะมีการประชาทัณฑ์หรือสังคมลงโทษอย่าง รุนแรง ก็เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเข้าไปป้องกันและจัดการให้เป็น ระเบียบเรียบร้อย ไม่ใช่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๒ จะโดนรุมประชาทัณฑ์ เลยช่วยเอาผู้ถูกกล่าวหาไปขังคุกแทน

ข้ออ้างที่ ๙ มาตรา ๑๑๒ สัมพันธ์กับมาตรา ๘ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 
มาตรา ๘ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” บทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหลายประเทศ เป็นบทบัญญัติในลักษณะประกาศ (declarative) เพื่อให้สอดรับกับหลัก The King can do no wrongไม่ใช่เป็นบทบัญญัติในลักษณะวางกฎเกณฑ์ปทัสฐาน (normative) การอ่านมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา ๑๑๒ ของประมวลกฎหมายอาญา ต้องอ่านแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่อ่านแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากอ่านแบบประชาธิปไตย จะเข้าใจได้ทันทีว่า มาตรา ๘ มีเพื่อเทิดกษัตริย์ไว้เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งไม่ทำอะไรผิด เพราะไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อไม่ได้ทำผิด และไม่ได้ทำอะไรเลย จึงไม่มีใครมาละเมิดได้ คำว่า “เคารพสักการะ” ก็เป็นการเขียนเชิงประกาศเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลทางกฎหมายในลักษณะมีโทษแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในระบอบประชาธิปไตย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆมอบให้แก่กษัตริย์ ก็เป็นการมอบให้แก่กษัตริย์ในฐานะตำแหน่งกษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐ ไม่ได้มอบให้แก่บุคคลที่มาเป็นกษัตริย์ หากกษัตริย์ปฏิบัติหน้าที่นอกกรอบของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆก็ต้องหมดไป การแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ให้โทษต่ำลงก็ดี การกำหนดเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ก็ดี การกำหนดเหตุยกเว้นโทษตามมาตรา ๑๑๒ ก็ดี ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญ การแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ไม่ได้ทำให้กษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ กฎหมายแบบมาตรา ๑๑๒ ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น และหากสมมติว่ามีการยกเลิกมาตรา ๑๑๒ จริง หากมีผู้ใดหมิ่นประมาทกษัตริย์ ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาให้ใช้ได้ ณ เวลานี้ มีความเข้าใจผิดกันในหมู่ผู้สนับสนุนมาตรา ๑๑๒ และผู้เลื่อมใสอุดมการณ์กษัตริย์นิยมว่า การรณรงค์เสนอให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา ๑๑๒ เป็นการกระทำที่มีความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และเป็นพวก “ล้มเจ้า”

ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า การรณรงค์เช่นว่าไม่มีความผิดใดเลย เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรา ๑๑๒ ไม่ต่างอะไรกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับ รัฐธรรมนูญ กฎหมายความมั่นคง กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎหมายอื่นใด มาตรา ๑๑๒ เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มิใช่สถาบันกษัตริย์ สมมติว่ามาตรา ๑๑๒ ถูกแก้ไขหรือยกเลิกจริง สถาบันกษัตริย์ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ไม่ได้ถูกยกเลิกตามมาตรา ๑๑๒ ไปด้วย หากความเห็นของข้าพเจ้าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ข้าพเจ้าขอยกเอาความเห็นของข้าราชการผู้หนึ่ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เขาผู้นี้เคยให้ความเห็นไว้ ณ ห้องแอลที ๑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๒ ในการเสวนาหัวข้อ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับความมั่นคงของรัฐ” ว่า “ใน เรื่องการแสดงความเห็นหรือรณรงค์อะไร ผมคิดว่าทำได้นะ แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบที่จะไม่ไปผิดกฎหมายด้วย คงขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอและรายละเอียดของการรณรงค์ว่ามีความเห็นให้เลิก มาตรา ๑๑๒ เพราะอะไร ถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เสียอีก ก็ทำได้”3 นอกจากนี้นายธาริตฯคนเดียวกันนี้ยังอภิปรายในงานเดียวกันว่า "...

ขณะ นี้มาตรา ๑๑๒ ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งขอเสนอต่อจาก อ.วรเจตน์ ว่า ต้องจัดการพวกที่เยินยอเกินเหตุนั้น ซึ่งต้องต่อท้ายด้วยว่า หาประโยชน์จากการเยินยอโดยการไปใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม ผมไม่ทราบว่าจะตั้งบทบัญญัติอย่างไร แต่เรารับรู้และรู้สึกได้ว่า พวกนี้แอบอ้างสถาบันฯ แล้วใช้เป็นเครื่องมือหรือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในการจัดการฝ่ายตรงข้าม พวกนี้จะต้องรับผิดเพราะโดยเจตนาส่วนลึกแล้วก็คือการทำลายสถาบันฯ นั่นเอง..."4 -



- ๒ -
ช่วงเวลาที่ผ่านมา คำว่า “ความยุติธรรม” ตลบอบอวลอยู่ในสังคมไทยอย่างยิ่ง คนเสื้อแดงก็เรียกร้องหาความยุติธรรม คนเสื้อเหลืองก็เรียกร้องหาความยุติธรรม

คนที่ไม่เอาสีไหนเลยก็เรียกร้องหาความยุติธรรมข้าพเจ้าประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงตนด้วยงาน บรรยายวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัย บางครั้งก็รับเชิญไปบรรยายตามที่ต่างๆ บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าถูกร้องขอให้อธิบายถึง “ความยุติธรรม” อันว่าความยุติธรรมนี้ มีปรัชญาเมธีจำนวนมากที่อธิบายความได้อย่างน่าสนใจ มีทั้งเห็นคล้อยและเห็นค้านกัน สำหรับข้าพเจ้าแล้ว เมื่อต้องพูดถึงความยุติธรรม ข้าพเจ้ามักไม่ตอบเอง แต่จะยกความคิดของปรัชญาเมธี ๒ ท่าน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ฟัง-ผู้อ่านได้ไปคิดต่อ Immanuel Kant ท่านหนึ่ง กับ John Rawls อีกท่านหนึ่ง

Immanuel Kant ได้สร้างกฎจริยศาสตร์ไว้ ๒ ข้อ ข้อแรก "จงกระทำในสิ่งที่สามารถทำให้เป็นกฎสากลได้" และข้อสอง "จงปฏิบัติต่อผู้อื่นในฐานะที่เขาเป็นจุดหมายในตัวเอง และไม่ใช่เป็นวิถีไปสู่เป้าหมายใดๆ"

ในข้อแรก Kant เห็นว่า การกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำที่ผู้กระทำสามารถทำให้เป็นกฎสากล ได้ (universalizable) นั่นคือเป็นการกระทำที่ทุกคนสามารถปรารถนาอย่างมี เหตุผลให้ผู้อื่นเลือกกระทำได้ เช่น การขอยืมเงินผู้อื่นโดยให้สัญญาว่าเราจะคืนเงินที่ยืมให้เขา โดยผู้ที่ยืมรู้ดีว่าไม่สามารถคืนเงินนั้นได้ หากพิจารณาการกระทำดังกล่าวตามหลักการของ Kant การผิดสัญญาเป็นการกระทำที่ไม่สามารถทำให้เป็นกฎสากลได้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ทุกคนไม่สามารถจงใจอย่างมีเหตุผลให้ผู้อื่นเลือก กระทำได้ หากการกระทำนี้เป็นกฎสากล คือทุกคนเลือกที่จะผิดสัญญา การทำสัญญาก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากจะไม่มีใครยอมทำสัญญากับใคร เพราะทุกคนจะตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่ว่าหากทำสัญญาก็จะถูกละเมิดสัญญา เหมือนกับที่ตนเองตั้งใจจะผิดสัญญา การกระทำดังกล่าวจึงเกิดปัญหาความขัดแย้งในตัวเองขึ้น ดังนั้นการผิดสัญญาจึงเป็นการกระทำที่ผู้กระทำต้องการให้ตนเองทำได้เพียงคน เดียว หรือต้องการให้ตนเป็นผู้ได้รับการยกเว้นจากการทำตามคำสั่งทางศีลธรรม เป้าหมายของ Kant ในการยืนยันหลักการข้อนี้คือเพื่อหลีกเลี่ยงอคติในการตัดสินเลือกกระทำ และเพื่อที่กฎศีลธรรมจะมีลักษณะเป็นกฎสากล

ในข้อที่สอง กำหนดให้มนุษย์ต้องปฏิบัติต่อมนุษย์ผู้อื่นในฐานะมนุษย์ที่มีเกียรติศักดิ์ ศรี และมีคุณค่าในตัวเอง มิใช่ปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะเขาเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ และไม่ปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะเป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายใด รวมทั้งผู้กระทำมีหน้าที่ปฏิบัติต่อตนเองในฐานะจุดหมายด้วย เพราะ Kant เห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าในตัวเองเนื่องจากมนุษย์มีเหตุผลในการตัดสิน เลือกกระทำและมีเป้าหมายเป็นของตนเอง5

John Rawls ได้สร้างทฤษฎีความยุติธรรมไว้ในฐานะที่ความยุติธรรมเป็น Faireness Rawls สมมติจินตภาพขึ้นมาอันหนึ่ง ซึ่งเขาเรียกว่า "Veil of Ignorance" (ม่านแห่งความเขลา) หากต้องการทราบว่าความยุติธรรมคืออะไร ก็ให้สมมติ นำมนุษย์เข้าไปอยู่ใน Veil of Ignorance เมื่อเข้าไปอยู่ในนั้นแล้ว มนุษย์ก็จะไม่ทราบว่าตนเองดำรงตำแหน่งสถานะใด ไม่รู้ถึงความสามารถ ไม่รู้ถึงคุณงามความดี ไม่รู้ถึงยุคสมัยที่ตนเองสังกัดอยู่ มนุษย์รู้เพียงแต่ว่า ตนดำรงอยู่ภายใต้ Circumstance of Justice

ในสภาวะนี้เอง มนุษย์จะตอบได้ว่า ความยุติธรรมที่ Faireness คืออะไร เพราะ มนุษย์เป็นอิสระอย่างแท้จริง ปลอดซึ่งค่านิยม คุณค่า สถานะ ความคิดเห็นต่างๆ เมื่อมนุษย์ต้องตอบว่าอะไรคือความยุติธรรม เขาก็จะประเมินอย่างระมัดระวัง รอบคอบ เพื่อให้ "ความยุติธรรม" ที่จะเกิดขึ้นนั้นสามารถเอื้อให้เขาดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยและสำเร็จ ไม่ว่าวันนี้ วันหน้า วันไหน เขาจะดำรงตำแหน่งสถานะใด เขาจะรวย เขาจะจน เขาจะเป็นเจ้า เขาจะเป็นไพร่ เขาก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

จากการสร้าง Veil of Ignorance อันแสนจะเป็นนามธรรมนี้ Rawls แปลงสภาพให้กลายเป็นรูปธรรมได้ ดังนี้เพื่อให้มนุษย์รู้ได้ว่าความยุติธรรมคืออะไร มนุษย์จะสร้างความยุติธรรมให้เป็นแบบใด จำเป็นต้อง ๑. มนุษย์มีสิทธิเท่าเทียมกันในเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ได้แก่ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางการเมือง กรรมสิทธิ์ ฯลฯ ๒. มนุษย์ต้องมีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ความไม่เสมอภาคจะมีได้ก็ต่อเมื่อเป็นประโยชน์มากที่สุดต่อคนที่ด้อยโอกาสที่สุด

สำหรับข้าพเจ้า หากต้องการพูดเรื่องความยุติธรรม จำเป็นต้องมีสนามที่ Free และ Fair เสียก่อน และสนาม นั้นจะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ถกเถียงว่าความยุติธรรม คืออะไร จะแบ่งสันปันส่วนให้ยุติธรรมได้อย่างไร ตราบใดที่ยังไม่มีสนามที่ Free และ Fair หรือสนามนั้นถูกครอบงำโดยกลุ่มบุคคล ความยุติธรรมที่ว่า ก็จะเป็นความยุติธรรมในทรรศนะของกลุ่มบุคคลที่ครอบงำเท่านั้น

ดังนั้น ยามใดก็ตามที่ท่านพูดถึง “ความยุติธรรม” โปรดพิจารณาดูก่อนว่า "ความยุติธรรม" ที่ท่านพูดกันนั้นมีลักษณะเช่นไร เพราะ "ความยุติธรรม" มีคุณค่ามากกว่าเป็นเพียงถ้อยคำใหญ่โตเพื่ออ้างความชอบธรรม

- ๓ -

ประกาศนิติราษฎร์ฉบับที่ ๑๙ นี้ ข้าพเจ้ามีบทความ ๓ ชิ้นมาแนะนำท่าน เป็นบทความของคนรุ่นใหม่ นักศึกษาผู้มีความคิดก้าวหน้า

บทความแรก “มโนทัศน์เกี่ยวกับประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ของนายกฤษณ์ วงศ์วิเศษธร นักศึกษาปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกฤษณ์ฯสนใจข้อความคิดเรื่องจารีตประเพณีในทางกฎหมาย และเตรียมทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “มโนทัศน์เกี่ยวกับกฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ” โดยมี รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์เป็นที่ปรึกษา ข้าพเจ้าเห็นว่างานของนายกฤษณ์ฯชิ้นนี้และในอนาคตถือเป็นความพยายามเข้าไป แบ่งพื้นที่แวดวงวิชาการกฎหมายมหาชนจากการถูกครอบงำโดยความคิดของนักกฎหมาย ฝ่ายกษัตริย์นิยม

บทความที่สอง ของนายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายพุฒิพงศ์ฯ เป็นนักเลงหนังสือเก่า สนใจประวัติศาสตร์กฎหมาย-การเมือง เขาติดตามความคิดของหยุด แสงอุทัยและสะสมงานพิมพ์ครั้งแรกของหยุด แสงอุทัยและปรมาจารย์กฎหมายจำนวนมาก ในช่วงหัวต่อหัวเลี้ยว คนจำนวนมากอาจสงสัยใคร่รู้เรื่องตำแหน่งรัชทายาท บทความสั้นๆชิ้นนี้ คงไขคำตอบให้ได้

บทความที่สาม เป็นงานแปลโดยนายอติเทพ ไชยสิทธิ์และนางสาวสุญญาตา เมี้ยนละม้าย ทั้ง สองท่านนี้เป็นกำลังสำคัญและเอาการเอางานของขบวนการนักศึกษาสนับสนุน ประชาธิปไตย ข้าพเจ้าเคยอาศัยในยุโรปหลายปี ครั้งหนึ่งมีโอกาสเดินทางไปสาธารณรัฐเช็ค ได้ไปรับรู้รับทราบเรื่องราวของขบวนการการเมืองที่เรียกชื่อว่า “Civic Forum” จุดเริ่มต้นของขบวนการนี้ คือ การออกคำประกาศ Charter 77 ภายหลังจากศิลปินวง The Plastic People of the Universe ถูกรัฐบาลจับกุม นักกิจกรรม นักคิด นักเขียน ศิลปิน ปัญญาชน จำนวนหนึ่งจึงริเริ่มยกร่างคำประกาศนี้ และเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๑๙๗๗ และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของหลายประเทศในวันถัดมา โดยมีผู้ลงชื่อรวม ๒๔๒ คน ต่อมาปัญญาชนกลุ่มนี้ได้ตั้งกลุ่ม Civic Forum ขึ้นในลักษณะเป็นเครือข่ายหลวมๆที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการเสรีประชาธิปไตย และหลุดพ้นจากหลืบเงาของสหภาพโซเวียต โดยมีแกนหลักคือ คือ Václav Havel, Jan Patočka, Zdeněk Mlynář, Jiří Hájek, และ Pavel Kohout กลุ่ม Civic Forum มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านระบอบเผด็จการที่ดำรงอยู่ในเชโกสโลวะเกียในขณะนั้น และเป็นกำลังสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านเชโกสโลวะเกียเข้าสู่ประชาธิปไตย ภายใต้ชื่อที่เรารู้จักกันดีว่า “ปฏิวัติกำมะหยี่” ซึ่งต่อมา Václav Havel ก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี

Charter 77 เป็นเอกสารทางการเมืองที่สำคัญในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ การแปลเอกสารชิ้นนี้เป็นภาษาไทยอย่างสละสลวยพร้อมเชิงอรรถ โดยนายอติเทพฯ และนางสาวสุญญาตาฯ จึงนับเป็นโอกาสอันดีให้ประชาชนไทยได้รู้จักเอกสารนี้และประวัติศาสตร์ การเมืองในยุโรปมากยิ่งขึ้น

นอกจากบทความทั้ง ๓ ชิ้นนี้แล้ว ข้าพเจ้าขออนุญาตแนะนำวารสารออนไลน์ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ไพร่แขนขาว ผู้ส่งบทความหลายชิ้นมาเผยแพร่ในเว็บไซต์นี้และเป็นกัลยาณมิตรของเรา ได้ส่งวารสาร ของ ศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา มาให้ข้าพเจ้าทางอีเมล์ ข้าพเจ้าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงไปค้นคว้าต่อ พบว่าวารสารปัญญา (Wisdom Magazine) ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ http://www.stc.arts.chula.ac.th/WisdomMag/index.html ดร.สมภารฯ ผู้ก่อตั้งและผู้เขียน มีความวิริยะอุตสาหะในการเขียนบทความเกี่ยวกับนิติปรัชญาและพุทธศาสนาด้วย ภาษาที่เข้าใจง่าย และยังมีน้ำใจอนุญาตให้เข้าไปอ่าน ดาวน์โหลด นำไปใช้และเผยแพร่ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มให้ดาวน์โหลดอีกด้วย ข้าพเจ้าขอคารวะและขอบคุณดร.สมภารฯมา ณ ที่นี้

ก่อนจากกันไป ข้าพเจ้ามีสำนวนภาษาฝรั่งเศสสำนวนหนึ่งมาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบ

“Après moi, le déluge” แปลตรงตัวได้ว่า “พ้นจากข้าพเจ้า น้ำท่วม”

ที่มาของสำนวนนี้ มีอยู่ ๒ สมมติฐาน สมมติฐานแรก พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ และมาดาม ปอมปาดูร์สนมเอกของพระองค์ตรัสประโยคนีกับปุโรหิต หลังจากปุโรหิตกราบทูลว่าจะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่หลังจากดาวหางโคจรเคลื่อน ผ่าน สมมติฐานที่สอง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ ตรัสถึงรัชทายาทในเชิงดูแคลนว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากพระองค์จากไป
คำว่า “le déluge” ไม่ใช่น้ำท่วมธรรมดา แต่เป็นอุทกภัยขนาดมหึมาที่พัดพาทุกสิ่งทุกอย่างให้พังภินท์ปรากฏฏอยู่ใน เรื่องเรือโนอาห์ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ ๖ ที่พระเจ้าดำริให้กวาดล้างมนุษย์ไปเสียจากแผ่นดินโลก ทั้งมนุษย์ สัตว์เลื้อยคลาน และนก แต่ด้วยเห็นว่าโนอาห์เป็นที่โปรดปรานในสายตาของพระเจ้า พระเจ้าจึงบอกให้โนอาห์ทราบ พร้อมทั้งมอบแผนผังรูปแบบเรือที่ใช้ในการช่วยชีวิตของโนอาห์ให้รอดพ้นจากการ ถูกน้ำท่วมล้างโลกเมื่อถึงกำหนดของพระเจ้า โนอาห์ก็ขึ้นไปอยู่บนเรือพร้อมสิ่งมีชีวิตอย่างละคู่และบันดาลให้ฝฝนตก ๔๐ วัน ๔๐ คืนติดต่อกัน จนน้ำท่วมโลก ผู้คน สัตว์ และพืชทุกชนิดที่อาศัยบนโลกก็เสียชีวิตไปทั้งสิ้น และให้น้ำท่วมโลกอยู่เป็นเวลาถึง ๑๕๐ วัน
ปัจจุบัน สำนวน “Après moi, le déluge” ใช้ในความหมายที่ว่า หากตนเองตายไปหรือพ้นจากตำแหน่งไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ตนไม่สนใจเพราะไม่เกี่ยวกับตนแล้ว ในบางครั้ง มีการนำสำนวนนี้ไปใช้กับกรณีบุคคลที่ครองอำนาจยาวนาน และไม่ได้คิดตรึกตรองถึงอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากตนไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า บุคคลนั้นเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ไม่รับผิดชอบใดๆต่ออนาคต
ยกตัวอย่างเช่น ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งใหญ่ยิ่ง มากด้วยอำนาจบารมี ครอบครองทรัพย์ศฤงคารมากมาย และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรวมศูนย์เข้าสู่ตัวข้าพเจ้าทั้งหมด ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่บางคนอาจคาดหมายว่าหากข้าพเจ้าไม่อยู่เสียแล้ว สถานการณ์วันข้างหน้าคงสับสนวุ่นวาย ที่ปรึกษาข้าพเจ้าจึงถามข้าพเจ้าว่า หากข้าพเจ้าพ้นจากตำแหน่งหรือตายไป วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าได้คิดการณ์ล่วงหน้าไว้หรือไม่ ข้าพเจ้าตอบว่า “Après moi, le déluge”
นั่นหมายความว่า...
ข้าพเจ้าไม่สนใจเรื่องใด ๆ นอกจากตัวข้าพเจ้า และหากข้าพเจ้าต้องตายไป ความฉิบหายจะเกิดอย่างไร ข้าพเจ้าก็ไม่อนาทรร้อนใจ เพราะข้าพเจ้าได้ตายไปแล้ว.

---------------------------------------
1. ในส่วนของกฎหมายต่างประเทศเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ โปรดดู ปิยบุตร แสงกนกกุล, “ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ขัดกับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น : กรณีหมิ่นประมาทกษัตริย์สเปน”, http://www.enlightened-jurists.com/page/193 และสามารถฟังคลิปบันทึกเสวนาเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จัดโดยคณะนิติราษฎร์ วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ ในส่วนการอภิปรายของปิยบุตร แสงกนกกุล และบางส่วนจากการอภิปรายในหัวข้อ "บทวิพากษ์ขบวนการล้มเจ้า ฉบับ ศอฉ." เนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือหลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่๖เมษายน๒๕๕๓คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ที่ http://archive.voicetv.co.th/content/12710

2. บวร ศักดิ์ อุวรรณโณ “ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก” และ “วัฒนธรรมไทยกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : เอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยในกระแสประชาธิปไตยโลก” , มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๖ และ ๗ เมษายน ๒๕๕๒ ตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งใน จันทจิรา เอี่ยมมยุรา (บรรณาธิการ), หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล , ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๓, หน้า หน้า ๒๑๐
3. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา (บรรณาธิการ), หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล , ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๓, หน้า ๑๐๑.
4. เพิ่งอ้าง, หน้า ๙๒.
5. ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กลุ่มไทยทำปรัชญา (สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย), “จริยศาสตร์เชิงหน้าที่”, สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ฉบับสังเขป, http://www.philospedia.net/Deontologicalethics.html#2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดตัวเครือข่ายประชาธิปไตย( คปต.) เดินเครื่องยกเลิก112 คืนอิสรภาพสุรชัย+220เหยื่อกฎหมายหมิ่น

คนไทยในเยอรมันร่วมขบวนเสื้อแดงนานาชาติ ผนึกฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศเคลื่อนพลยกเลิก#112

เคลื่อนไหวใหญ่เลิก#112วันนี้ เจ้ย-อภิชาติพงศ์โดดร่วมนักวิชาการ-คนดังระดับโลกตื่นรู้กฎหมายหมิ่นฯ

อภิปรายนิติราษฎร์ พร้อมด้วยข้อเสนอ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112

ไม่เอา 112: โรคระบาดใหม่ทางเฟสบุค ที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว




http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น