วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554


ความชอบธรรมกับการใช้อำนาจ พระเจ้ากับดาวิดของจริงเป็นอย่างไร?

โต๊ะกลมระดมความคิด
        
           http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=51577       
           จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3035 ประจำวัน อังคาร ที่ 19 เมษายน 2011
         โดย รัศมีวัณทโณ จาณาคยะ

        ประวัติศาสตร์ของพระธรรมได้ชี้ให้เห็น “ตัวตนแท้จริงของผู้คน” ซึ่งมีองค์ประกอบ “ของอำนาจ” เข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นอิทธิพลสำคัญต่อการแสดงออก...

ดังนั้น สำหรับหลายคนที่เราเข้าใจว่า “เป็นคนดี” ครั้นเมื่อมีปัจจัยของอำนาจอยู่ในมือ ตัวตนอันแท้จริงจะเปิดเผยให้เห็นความเป็นจริง เนื่องจากอำนาจจะกลายเป็นตัวพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริง เมื่อมีอำนาจในมือย่อมผลักดันให้คนเราสามารถที่จะทำในสิ่งซึ่งอยากจะทำ ดังนั้น สิ่งที่ผู้คนได้เลือกทำต่อตนเองและต่อผู้อื่นย่อมเลี่ยงไม่พ้นสำหรับการเปิดเผยเนื้อลึกแห่งตัวตนที่แท้จริง...เราอาจกล่าวได้ว่าอำนาจยังมีสถานะซึ่งขับเคี่ยวพิสูจน์ถึงตัวตนในเบื้องลึกหรือสันดานแท้ๆของมนุษย์เรา ภาคดีและภาคเลวอะไรจะเหนือกว่ากัน?


ประวัติศาสตร์ของพระธรรมเกี่ยวกับดาวิด ซึ่งทำหน้าที่ปลดปล่อยอิสราเอลให้เป็นอิสระ แล้วเข้าครอบครองดินแดนตามพันธสัญญา เป็นอุทาหรณ์ที่ทำให้เราได้มองเห็น “สองด้านในตัวตนที่แท้จริง ทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ตกต่ำในจิตวิญญาณ ซึ่งสามารถครอบงำอยู่ในคนเรา” แม้กระทั่งดาวิดผู้เป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอลก็ยังต้องเผชิญหน้า ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องต่อสู้ภายในจิตวิญญาณที่ตกต่ำของตัวเอง แต่ตัวตนแท้จริงในด้านดีคงเหนือกว่าได้แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจอันมีอยู่ในมือเข้าจัดการกับสงคราม เป็นการใช้อำนาจที่พระเจ้าประทานให้นำไปสู่การสร้างสันติสุข สร้างความสมบูรณ์กระทำตามประสงค์ของพระเจ้า...


แน่นอนทีเดียวสำหรับการมองบทบาทของดาวิด เราสามารถศึกษาได้ถึงการแสดงตัวตนที่แท้จริงเมื่อเขามีอำนาจอยู่ในมือ สามารถกระทำไปในสิ่งที่พอใจได้ มันยังหมายถึงการควบคุมอำนาจเพื่อให้ตัวตนที่แท้จริงไม่ไปแสดงออกถึงด้านร้ายเพื่อการเหยียบย่ำทำลายโดยไม่เป็นไปตามสัญญาของพระเจ้าอย่างถูกต้อง ข้อนี้ยังอาจหมายถึงกระบวนการใช้อำนาจที่ต้องกำกับโดยจริยธรรมและคุณธรรมอย่างเคร่งครัด?


ภารกิจการใช้อำนาจปกครองของดาวิดและของพระเจ้ายังเกี่ยวข้องกับภารกิจที่จะต้องทำสงครามกับบรรดาศัตรูรอบข้าง เป็นไปตามภารกิจปลดปล่อยอิสราเอลให้เป็นอิสระเพื่อเข้าครอบครองดินแดนตามพระสัญญา


มันมีมุมมองว่าการใช้อำนาจเพื่อทำหน้าที่ของดาวิดเป็นไปเพราะการยึดถือตามพระสัญญาที่พระเจ้าทรงประทานให้กับชนชาติของตัวเอง หากปราศจากการยึดถือพันธสัญญา การใช้อำนาจของดาวิดก็มีโอกาสโน้มเอียงไปสู่ตัวตนซึ่งกระทำตามอำเภอใจไปในลักษณะสู่ฝ่ายต่ำได้?


ประวัติศาสตร์แห่งพระธรรมยังชี้ให้เห็น “ความพอใจในการกระทำจากตัวตนแท้จริงเมื่อมีอำนาจ มันคงมิใช่การอ้างอิงหรือปลุกปลอบตนเองเพียงเป็นภาษา-วาทกรรมเกี่ยวกับเหตุผล ทั้งคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม” ทั้งนี้ เนื่องจากมนุษย์นั้นมักมีสัญชาตญาณที่โน้มเอียงเข้าข้างตัวเองเสมอ


การแสดงตัวตนที่หลงทางไปตามอำนาจ พวกคนเหล่านั้นยังอาจมองไม่เห็นการประพฤติผิดศีลธรรมหรือจริยธรรมใดๆของตัวเอง ตรงนี้เป็นแง่คิดสำคัญว่าคนที่อ้างถึงศีลธรรม สร้างทฤษฎีคนดีมีคุณธรรม ย่อมเบี่ยงเบนที่จะใช้อำนาจไปทรยศหักหลัง ฉ้อฉลหรือกระทำการเลวร้ายต่างๆได้ ข้ออ้างทางศีลธรรมจึงไม่เพียงพอสำหรับการบริหารจัดการให้ส่วนรวมหรือบ้านเมืองเกิดสันติสุขขึ้นมาได้เสมอไป นอกจากเป็นรูปธรรมทางปฏิบัติเท่านั้น?


ตรงนี้เราสามารถมองเห็นได้จากความพยายามเชิดชูในเรื่องศีลธรรมและความเป็นคนดีสมถะในสังคมไทย กลุ่มอำนาจการเมืองจากพิมพ์เขียว “ของการสืบทอด” มีการใช้แนวทางวาทกรรมนี้เป็นเสมือนพันธสัญญาของสังคมหรือจากพระเจ้าก็ไม่ปาน เพื่อต่อสู้และสกัดยับยั้งกระแสประชาธิปไตยซึ่งมีการเรียกร้องในสังคมไทย ถ้ากล่าวอีกนัยหนึ่งการต่อสู้ขัดแย้งในประเทศไทยยังมีลักษณะของแนวทางพิมพ์เขียวแห่งอำนาจนิยมที่คาดหวังให้ “วาทกรรมกระแสคนดีมีศีลธรรม” จะเป็นคำตอบในการแก้ไขวิกฤตต่างๆ โดยที่ไม่ต้องใช้หรือเปิดโอกาสให้แก่กระแสเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย


ดังนั้น จึงมีกระบวนการในการใช้อำนาจตามความพอใจที่นับวันยิ่งเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ซึ่งอาจเปรียบเทียบให้เป็นทั้งตัวตนของพระเจ้าผู้สั่งพันธสัญญาในสังคมไทย กับตัวตนของ “ดาวิด” อันอุปมาอุปไมยคล้ายกษัตริย์อิสราเอลผู้ใช้อำนาจจากพระเจ้า?


ตัวตนของพระเจ้าและดาวิดในภาคอิสราเอลตามพระคัมภีร์ กับตัวตนของพระเจ้ากับดาวิดในภาคไทยๆจึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง?


อย่างน้อยที่สุดจากการศึกษาประวัติศาสตร์ในพระคัมภีร์ยังชี้ให้เราเห็นถึงพันธสัญญาซึ่งพระเจ้าให้ไว้ย่อมเป็นเรื่องเที่ยงตรงไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวดับดาวิดผู้ใช้อำนาจแทนพระเจ้าแม้จะไขว้เขวเผยตัวตนด้านลบออกมาบ้าง แต่การสงครามของดาวิดนั้นยังคงเที่ยงตรง เพื่อปลดปล่อยและมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างอิสระให้แก่อิสราเอล พร้อมทั้งมีความเที่ยงตรงยุติธรรมเป็นที่ตั้งต่อการบริหารและจัดการต่างๆ


สงครามปลดปล่อยซึ่งใช้อำนาจโดยตัวตนที่แท้จริงย่อมมีเป้าหมายที่มุ่งสู่ถึงความอิสระ ยึดกุมความเที่ยงตรงยุติธรรมเป็นเครื่องมือเท่านั้น มันจึงตรงข้ามกับสงครามที่ใช้อำนาจในการครอบงำ บริหารจัดการโดยไร้ความเที่ยงตรงและยุติธรรม อ้างแต่ศีลธรรมลอยๆ สภาวะเช่นนี้คงเป็นเพียงตัวตนที่หลอกลวง เป็นพระเจ้าปลอมกับดาวิดที่หลอกหลอน ฉ้อฉล และกลิ้งกลับกลอกเท่านั้นเอง?


***********************************
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น