คงไม่ใช่เป็นการคิดมากหรือหวาดระแวงในทางการเมืองสำหรับประเทศไทย ความเชื่อเรื่องยุบสภาแล้วเดินหน้าสู่ขั้นตอนของการเลือกตั้งดูเหมือนจะถูกสั่นไหวตลอดเวลาจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเงียบหรือรัฐประหารโฉ่งฉ่าง?
หากเราเอาสถานการณ์ก่อน 19 กันยายน 2549 เข้ามาเทียบเคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จะพบว่ามันมีความเคลื่อนไหว “บางด้าน” ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกันมากทีเดียว ก่อนการรัฐประหารในครั้งนั้นก็เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ก่อกระแสเรียกร้องให้ “ทหารก้าวเข้ามาทำงานใหญ่ให้แผ่นดินเพื่อล้างระบบการเมือง” อ้างประเด็นของการทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจในลักษณะเผด็จการรัฐสภา ผูกวาทกรรมสนับสนุนสร้างคำอธิบายหวังให้เกิดความชอบธรรมต่อการใช้อำนาจของกองทัพ เป็นต้นว่า ระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีการเลือกตั้งและมีรัฐสภานับเป็นเรื่องไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นฐานที่เป็นจริงของสังคมแบบไทยๆ
การเปรียบเทียบสถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวคงเห็นได้ชัดถึงสูตรหรือแนวทางเปลี่ยนแปลงอำนาจ ซึ่งน่าจะมาจากสำนักตักศิลาแห่งเดียวกันชนิดแทบไม่มีอะไรผิดเพี้ยนในเนื้อหาหลัก มีแตกต่างอยู่บ้างตรงรายละเอียดเท่านั้น?
การกวักมือแบะท่าให้ทหารเข้ามาใช้อำนาจเผด็จการเพื่อจัดการกับรัฐบาลพลเรือนเผด็จการ โดยเฉพาะสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันเมื่อวาทกรรมนี้ถูกงัดออกมาใช้ ทั้งข้อมูลและการให้ข้อเท็จจริงต่างๆในเชิงสนับสนุน เมื่อถูกนำมาปลุกระดมก็เกิดอาการ โดยเฉพาะพฤติกรรมของนักการเมืองในฝ่ายรัฐบาล ซึ่งตกเป็นข่าวสารมาตลอดเวลากว่า 2 ปี แม้จะมีการชี้แจงหรือปฏิเสธไปได้ทุกกรณี ยืนยันความบริสุทธิ์ผุดผ่องของตัวเอง หากแต่การชี้แจงอย่างเป็นทางการหรือบนพื้นที่สื่อกับความจริงรวมทั้งความเชื่อในฝ่ายประชาชนกลายเป็นคนละข้อสรุป? ผู้คนจำนวนส่วนใหญ่คงไม่ได้เชื่อไปตามกฎเหล็ก 9 ข้อของรัฐบาล
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงงบประมาณแผ่นดินรั่วไหลนับจำนวน “แสนล้านบาท” เป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น แล้วยังสามารถระเบิดความเชื่อของประชาชนจำนวนหนึ่งชักเคลิ้มและเห็นคล้อยตามการชี้ชวนในวาทกรรม “เว้นวรรคประเทศไทย” รวมทั้งการก่อกระแส Vote No ในขณะนี้?
การเว้นวรรคประเทศไทยจะเป็น 3, 4 หรือ 5 ปี นอกจากจะมีความหมายที่อาจเป็นการปิดประเทศ ยังเป็นเรื่องเดียวกับ “การต่อต้านและเลิกล้มระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย” ซึ่งธงเช่นนี้เห็นจะไม่แตกต่างอะไรกับการก่อกระแส “ต่อต้านการเลือกตั้งในอดีตก่อน 19 กันยายน 2549” ยิ่งเป็นเสียงเรียกร้อง Vote No ซึ่งพ่วงติดตามในฐานะวาทกรรมชุดเดียวกัน พฤติกรรมและความเคลื่อนไหวเช่นนี้ต้องจัดให้เป็นสูตรเดียวกับขบวนการปฏิเสธการเลือกตั้งเมื่อครั้งนั้น ทั้งการปฏิเสธจากพรรคการเมืองส่วนหนึ่ง บทบาทของนักวิชาการ รวมจนถึงกลุ่มอิทธิพลการเมืองข้างถนน...
สังคมในช่วง พ.ศ. 2548-2549 ถูกกวนและปั่นให้พล่าน เป็นภาพแห่งความวุ่นวาย เต็มไปด้วยแนวโน้มความรุนแรงของสังคม เมื่อทุกอย่างสุกงอม การกวักมือเรียกให้กองทัพเข้ามามีบทบาทก็บรรลุผล กลายเป็นบทจบของการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐที่ประชาชนส่วนใหญ่แม้นไม่นิ่งเฉยก็รู้สึกปีติยินดีร้องไชโยโห่ฮิ่ว...นึกถึงสถานการณ์ตอนนั้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ “มันจึงฟังขึ้น” สำหรับกระแสข่าวที่ใครต่อใคร รวมทั้ง “คุณนายสดศรี สัตยธรรม” ต่างระบุว่า “มีคนเตรียมพร้อมที่จะทำรัฐประหาร” ส่วนจะเป็นรัฐประหารเงียบซึ่งเป็นไปได้ร้อยแปดวิธีการ หรือรัฐประหารโฉ่งฉ่าง หรือเริ่มต้นด้วยเงียบแล้วบานปลายจบท้ายกลายเป็นเสียงปืนแตก-สงครามกลางเมือง หัวข้อเหล่านี้ก็ถูกกล่าวถึงอยู่ไม่น้อย?
รัฐประหารเงียบนั้นเป็นไปได้หลายวิธีการ รวมทั้งหนึ่งในแผนที่ถูกเปิดโปงออกมา เช่น อาจทำ “ให้ผลการเลือกตั้งกลายเป็น “โมฆะ” ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสบผลสำเร็จในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น” ข้อคิดเห็นของสดศรีนั้นถือว่าไม่เลื่อนลอยแต่ประการใด?
ดังนั้น กรณีที่ประกาศของ กกต. จะกลายเป็นปืนเถื่อน นี่จึงเป็นอีกข้อสังเกตซึ่งระบุถึง “การเลือกตั้งที่ประชาธิปัตย์จะแพ้ไม่ได้?”
อย่างไรก็ตาม สูตรของการปฏิวัติเงียบอาจไม่ได้จบสิ้นเพียงเท่านั้น สดศรี สัตยธรรม ยังให้ข้อมูลสำหรับความเป็นไปได้ ซึ่งใช้กำลังทหารเพียงเล็กน้อยก็สามารถจี้ให้รัฐบาลลาออกได้ กระทั่งยังมีการเตรียมบุคคลเอาไว้เป็นรัฐมนตรี...
เมื่อประเมินภาพโดยรวมสูตรเคลื่อนไหวในขณะนี้กับก่อน 19 กันยายน 2549 ก็ดูจะมาจากสูตรของเจ้าสำนักเดิม เป็นการเคลื่อนเกมหลายหน้าไปอย่างสอดคล้องพร้อมในเวลาเดียวกัน ประเทศไทยในขณะนี้น่าจะเป็นลักษณะ In Between ที่ปนเปทั้งเกมเลือกตั้ง รัฐประหารเงียบสารพัดเทคนิค
แม้สถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่คนที่คิดก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น ผลลัพธ์จะออกมาในขั้นตอนสุดท้ายอย่างไร? ข้อนี้รับรองพระเจ้าก็คาดหมายไม่ได้ เพราะหากคาดหมายได้คงมีปฏิวัติดังมาตั้งนานแล้ว?
******************************* |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น