วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554


เหตุผลลึกๆ"


เป็นประชารัฐ
http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=51626
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3036 ประจำวัน พุธ ที่ 20 เมษายน 2011
         โดย อัคนี คคนัมพร

         อุตส่าห์เชียร์ไปเต็มที่เมื่อวานนี้กับการที่ กกต. มีดำริจะออกกฎระเบียบห้ามมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง แอบอ้างหรือแอบอิงสถาบันกษัตริย์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
มาวันนี้กลับมีเสียงสวนกลับรุนแรงมากจากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ผู้เป็นเจ้าของป้ายโฆษณาหาเสียงขนาดใหญ่ทั่วประเทศที่ระบุข้อความขอปกป้องสถาบัน


เอ๊ะ! รัฐบาลเดียวกันแท้ๆทำไมถึงไปกันคนละทางได้


นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย เป็นตัวแทนพรรคออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะพรรคการเมืองของพวกตนมีนโยบายชัดเจนในเรื่องปกป้องสถาบัน และส่งเสริมประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยจดแจ้งกับ กกต. ดังนั้น ถ้าพรรคของตนเองจะนำเรื่องนี้ไปพูดในการหาเสียงจะผิดตรงไหน


นายศุภชัยยังอธิบายต่อไปว่า พรรคการเมืองประกอบไปด้วยบุคคล ซึ่งเป็นคนไทย ถ้าคนไทยจะออกมาแสดงจุดยืนในการปกป้องสถาบัน แล้ว กกต. จะเอาอำนาจอะไรมาห้าม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าพรรคภูมิใจไทยชูนโยบายว่าจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้บุคคลใดก็ตามที่กระทำผิดต่อสถาบันมีโทษหนักขึ้น เพราะเห็นว่าปัจจุบันมีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งบนดินและใต้ดินมากขึ้น แล้วจะนับว่าผิดกฎหมายได้อย่างไร
ที่สุดนายศุภชัยได้ตั้งคำถามไปยัง กกต. (และโดยไม่รู้ตัวยังได้ตั้งคำถามไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วย) ว่าคนที่มีแนวคิดเช่นนี้แสดงว่าป่วยทางจิตใช่หรือไม่ เพราะเห็นใครทำอะไรดีๆในสถานการณ์ที่อ่อนไหวแล้วบอกว่าผิดกฎหมายไปหมด


ฟังคำคัดค้านและคำอธิบายของโฆษกพรรคภูมิใจไทยแล้วผู้เขียนก็งงอยู่เหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าจะชี้แจงแกอย่างไรดี ทั้งยังห่วง กกต. และนายอภิสิทธิ์ ผู้เป็นต้นคิดว่าจะสามารถชี้แจงได้หรือไม่อีกด้วย


ข้ออ้างที่ว่าพรรคภูมิใจไทยเขียนนโยบายไว้เช่นนั้น แล้วจดแจ้งต่อ กกต. ไว้เช่นนั้น ครั้นถึงเวลาหาเสียงจะห้ามมิให้เขาพูดถึงนโยบายของเขาเป็นเรื่องขาดเหตุผลโดยสิ้นเชิงจริงๆ ข้ออ้างนั้นรับฟังได้


ถ้าเช่นนั้นจะทำอย่างไร?


ผู้เขียนตรึกตรองแล้วอธิบายได้เพียงแง่มุมเดียวที่ว่า ถ้าปล่อยให้พรรคการเมืองเอาสถาบันกษัตริย์ไปหาเสียงแล้วมันเสี่ยงต่อผลลัพธ์ กล่าวคือ ถ้าพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งมามากก็ดีไป แต่ถ้าพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งมาน้อยจะมิกลายเป็นว่าสถาบันพลอยตกต่ำย่ำแย่ไปด้วยหรือ?
ทำไมจะต้องเอาสถาบันที่ทุกพรรคเทิดทูนมาให้พรรคใดพรรคหนึ่งนำไปเสี่ยงเช่นนั้นเล่า?
เหตุผลของผู้เขียนมีเพียงเท่านี้ แต่เหตุลผลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะทำงานของ กกต. คงจะมีแตกต่างออกไป


ตามที่เราก็ได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เมื่อไม่นานมานี้วิกิลีกส์ เว็บไซต์ยอดฮิต ได้เผยแพร่ข้อความว่า คนสำคัญของไทย 3 คนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทูตสหรัฐถึงเรื่องสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของประะเทศ


บุคคลสำคัญอันปรากฏชื่อทั้ง 3 คนได้พูดจาพาดพิงถึงองค์รัชทายาท และเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมีคนเสื้อแดงได้ไปแจ้งความดำเนินคดีไว้แล้ว


แต่เรื่องนิ่งอยู่กับที่
ไม่ยอมขยับไปไหน


เรื่องดังกล่าวถ้ามีการต่อสู้กันในสนามเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์อาจโดนกล่าวหาว่า 2 มาตรฐาน และละเว้นการปฏิบัติฯตามมาตรา 157 ส่วนบุคคลสำคัญทั้ง 3 อาจถูกกล่าวย้ำซ้ำซากตลอด 45 วันของการหาเสียง


ว่าแล้วก็เลยหาทางตัดไฟเสียแต่ต้นลม


คือห้ามทุกคนกล่าวพาดพิงถึงไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ
เหตุผลลึกๆมันเป็นเช่นนี้ใช่ไหมมาร์ค?


**********************
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น