วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554


เริ่มต้นที่ตัวเอง

เริ่มต้นที่ตัวเอง

        บทบรรณาธิการ
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3035 ประจำวัน อังคาร ที่ 19 เมษายน 2011
         โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน
           http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=51582

         มีทั้งเสียงคัดค้านและสนับสนุน หลังจากนายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือถึง กกต. ขอให้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองว่า สำนักบริหารงานเลือกตั้งดำเนินการยกร่างระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียงฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะประสานมา เนื่องจากเคยมีการร้องเรียนเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นกรณีคู่แข่งหาเสียงโดยอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งระเบียบใหม่นี้จะเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ กกต. พิจารณาได้ภายในเดือนเมษายนและทันการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้

ระเบียบดังกล่าวจะมีหลักการคล้ายข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ห้ามไม่ให้กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยระเบียบจะเริ่มใช้ภายหลังยุบสภา หากผู้สมัคร ส.ส. รายใดฝ่าฝืน โดยกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องหรือกรณีอื่นๆ หากทำให้เข้าใจผิดในคะแนนเสียงหรือทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต นอกจากจะมีโทษถึงขั้นให้จัดการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) หรือตัดสิทธิทางการเมือง (ใบแดง) แล้ว ยังอาจมีโทษถึงขั้นถูกดำเนินคดีอาญา และหากผู้ทำผิดระเบียบดังกล่าวเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใดอาจนำไปสู่การยุบพรรคเช่นเดียวกับการซื้อเสียงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง

แต่ฝ่ายการเมืองอย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กลับไม่เห็นด้วย เพราะความจริงเรื่องสถาบันเราไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่แล้ว เนื่องจากทุกคนมีความจงรักภักดี แต่จะแสดงออกทางไหนเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องออกเป็นประกาศ

เช่นเดียวกับนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ยืนยันว่า การหาเสียงเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ต้องทำ ห้ามไม่ได้ กกต. ไม่มีสิทธิห้ามหาเสียง อย่างนโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนาที่ประกาศว่าจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงจะปกป้องและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ จะห้ามได้อย่างไร แต่ถ้าบุคคลใดหรือพรรคใดถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทสถาบันต้องไปดำเนินตามกฎหมายอาญา ซึ่งสอดคล้องกับนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ที่เห็นว่ามีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่แล้ว การออกเป็นระเบียบขึ้นมาอีกอาจทำให้เป็นปัญหาได้
ประเด็นเรื่องสถาบันจึงอยู่ที่ผู้นำสถาบันมากล่าวอ้างมากกว่าว่าสมควรหรือไม่ โดยเฉพาะการฟ้องร้องกล่าวหาอย่างมากมายเช่นทุกวันนี้ ควรจะแก้ไขที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ อย่างไร เพื่อไม่ให้อ้างเรื่องความจงรักภักดีมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ว่าฝ่ายการเมือง ภาครัฐ กองทัพ หรือภาคประชาชน ซึ่งล้วนแต่ดึงสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น และไม่ใช่ผูกขาดความจงรักภักดีอย่างผิดๆ

***********************************
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น