วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554


ปูมชีวิตสายเลือด "เฉกอะหมัด" :
จากประธาน "คมช." สู่หัวหน้าพรรค "มาตุภูมิ"



ชีวิตและงาน

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2489 เป็นบุตรของ พันเอกสนั่น (เดิมนามสกุล อหะหมัดจุฬา) และ นางมณี บุญยรัตกลิน เติบโตในครอบครัวมุสลิมในจังหวัดปทุมธานี (บิดานับถือนิกายชีอะห์) แต่ตัวพลเอกสนธินับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีย์ตามมารดา ต้นตระกูลคือเฉกอะหมัด หรือ เจ้าพระยาบวรราชนายก ขุนนางเชื้อสายเปอร์เซีย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี และ สมุหนายกในสมัยกรุงศรีอยุธยาลูกหลานบางส่วน เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ เช่น ตระกูลบุนนาค ตระกูลจุฬารัตน์ โดยนามสกุลบุญยรัตกลิน (อ่านว่า บุน-ยะ-รัด-กะ-ลิน) จริงๆแล้วคือบุณยรัตกลิน แต่พิมพ์ผิดเป็น "ญ" นั้น เป็นนามสกุลพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ลำดับที่ 2798 มีที่มาจากการที่หนึ่งในสาแหรกฝั่งย่าเป็นทหารเรือสังกัดพรรคกลิน คือ น.ต.หลวงพินิจกลไก (บุญรอด) หรือชื่อมุสลิมว่า อับดุลเลาะห์ อหะหมัดจุฬา

พล.อ.สนธิมีภรรยาทั้งหมด 3 คนภรรยาคนแรกชื่อ สุกัญญา จดทะเบียนสมรสขณะที่ พล.อ.สนธิยังเป็นพันโท ภรรยาคนที่สองชื่อ ปิยะดา จดทะเบียนสมรสเมื่อเป็นนายพล ภรรยาคนที่สามชื่อ วรรณา ปัจจุบันอาศัยอยู่ด้วยกันทั้งหมดแม้ว่าการมีภรรยาสามคนจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 พล.อ.สนธิให้เหตุผลที่ไม่ยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินของภรรยาคนที่ 3 ต่อ ป.ป.ช. เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางกฎหมาย

พล.อ.สนธิเข้าศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมทหาร (รุ่นที่ 6) และศึกษาต่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เหล่าทหารราบ (รุ่นที่ 17) และได้ศึกษาในระดับอุดมศึกษาสำหรับปริญญาโท สาขาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (การทหาร) โรงเรียนเสนาธิการทหารบก สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูงและวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (รุ่นที่ 42) และระดับปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ (สาขาวิชาการเมือง) มหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่นแรกของคณะ โดยมีพลเอกสนธิเป็นประธานรุ่นที่มีอายุมากที่สุดคือ 63 ปี

เริ่มต้นชีวิตการรับราชการจาก ผู้บังคับหมวดปืนเล็กกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบ ศูนย์การทหารราบ, พ.ศ.2512 เป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็กกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กองพลอาสาสมัครเสือดำ, พ.ศ.2513 เป็นรองผู้บังคับกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 9 กาญจนบุรี นายทหารคนสนิทแม่ทัพภาคที่ 4 (พล.ท.ปิ่น ธรรมศรี ในขณะนั้น), พ.ศ.2526 เป็นผู้บังคับกองพันรบพิเศษที่ 2 กรมรบพิเศษที่ 1 รองผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1, พ.ศ.2530 เป็นผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 รองผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1, พ.ศ.2542 เป็นผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ, พ.ศ.2545 เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษและในปี พ.ศ.2548 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารบก

ที่สำคัญ นับเป็นผู้บัญชาการทหารบกไทยคนแรกที่นับถือศาสนาอิสลาม

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 พล.อ.สนธิประกาศตัวเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วจึงแปรรูปคณะรัฐประหารและเปลี่ยนฐานะไปเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

หลังเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2550 พล.อ.สนธิได้รับพระราชทานโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่คณะรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ตั้งมาเองกับมือ

ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยื่นบัญชีทรัพย์สินเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีมีทรัพย์สิน 38,796,977 บาท ประกอบด้วยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ 10,241,195 บาท เงินฝากในสถาบันการเงินอื่น 13,355,541 บาท หลักทรัพย์รัฐบาล และรัฐบาลค้ำประกัน 142,600 บาท หลักทรัพย์จดทะเบียนและรับอนุญาต 6,393,240 บาท หลักทรัพย์และเงินลงทุนอื่น 4,664,400 บาท สิ่งปลูกสร้าง 1 หลัง มูลค่า 4 ล้านบาท สำหรับภรรยาทั้ง 2 คนที่จดทะเบียนสมรสคือ นางสุกัญญา มีทรัพย์สินกว่า 14 ล้านบาท และ นางปิยะดา 42 ล้านบาท บุตรสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกว่า 3 แสนบาท

รวมทั้งครอบครัว มีทรัพย์สินกว่า 94 ล้านบาท

ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 พล.อ.สนธิก็รับตำแหน่งประธานพรรคมาตุภูมิ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยนักการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นมุสลิม โดยมีเป้าหมายหวังฐานเสียงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี 2554

สาแหรกบรรพบุรุษ

หนังสือ "ชีวิตและผลงาน พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก" เขียนถึงที่มาที่ไปของนามสกุลนี้ว่า เป็นการขอยืมมาเพราะเดิมนั้น บิดาของพลเอกสนธิ คือ พันเอกสนั่น บุญยรัตกลิน ใช้นามสกุล "อหะหมัดจุฬา" แต่เนื่องจากนโยบายของรัฐสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่กำหนดให้ข้าราชการที่ใช้ "...นามสกุลที่ไม่คล้ายกับคนไทยให้เปลี่ยน ห้ามใช้" พันเอกสนั่นจึงมาใช้นามสกุลแม่โดยในหนังสือบันทึกไว้ตามคำพูดของพลเอกสนธิว่า "นามสกุลจริงๆของคุณย่าคือ 'บุณยรัตกลิน' ในสมัยก่อนเป็น 'ณ' แต่ไม่รู้ว่าพิมพ์ผิดอย่างไร เลยกลายมาเป็น 'ญ' ฉะนั้นอาน้องของคุณพ่อทั้ง 2 คน ก็ยังใช้ 'ณ' อยู่ มันผิดมาเรื่อย จนกระทั่งผมเลยกลายเป็น 'ญ' ทาง คุณพ่อพี่เกาะ (พลเอกสมทัต อัตนันทน์) เป็นคนให้คุณพ่อผมใช้นามสกุลนี้ คุณพ่อก็เลยไปขอจากน้องย่าหรือพี่ของย่าไม่ทราบขอมาใช้นามสกุลนี้ แล้วก็ใช้มาโดยตลอด..."

พลเอกสนธิเป็นมุสลิม "ชีอะห์อิสนาอะชะรี" (นิกายสิบสองอิหม่าม) สายเฉกอะหมัด ซึ่งมาแต่อาณาจักรเปอร์เซีย-อิหร่านและรับราชการจนได้เป็นที่ "เจ้าพระยาบวรราชนายก" เพราะความดีความชอบในการปราบปรามกบฏแขกปักษ์ใต้สมัยแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง

เฉกอะหมัด มีเชื้อสายต่อมาคือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) มีลูกต่อมา คือ เจ้าพระยาชำนาญภักดี (สมบุญ) ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ต่อมามีลูกคือ พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) จางวางกรมล้อมพระราชวัง และให้ว่าที่กรมอาสาจามและอาญาญี่ปุ่นในแผ่นดินพระเจ้าอยู่บรมโกศ

"พระยาเพ็ชรพิไชย" นี่เอง ที่ตอนหลังได้เข้ามานับถือศาสนาพุทธทำให้ลูกสืบสายสกุลแบ่งแยกออกเป็น 2 สาย คือ สายของพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) ที่นับถืออิสลามต่อไป และสายของเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) ที่นับถือพุทธตามพ่อ โดยสายพุทธนั้นต่อมา ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "บุนนาค" และต่อมายังมีการแตกจากสายนี้ไปเป็นหลายสาย เช่น นามสกุล "จุฬารัตน" "ศรีเพ็ญ" "บุรานนท์" "จาติกรัตน์"

เชน บุตรชายคนที่ 2 ของเจ้าพระยาเพชรพิไชยยังคงนับถือศาสนาอิสลาม จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้เป็นพระยาวิชิตณรงค์ แล้วเลื่อนเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี มีบุตรชื่อ ก้อนแก้ว (มุฮัมมัตมะอซูม) เป็นต้นตระกูล อหะหมัดจุฬา, อากาหยี, จุฬารัตน, ช่วงรัศมี, ชิตานุวัตร, สุวกูล ฯลฯต่อมาถวายตัวต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รับตำแหน่งสืบทอดจากบิดาเป็นพระยาจุฬาราชมนตรีคนที่ 1 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์และได้รับพระราชทานที่ดินสร้าง กุฎีเจ้าเซ็น (กุฎีหลวง) ขึ้นเป็นแห่งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

ส่วนบุตรชายคนที่ 3 ของเจ้าพระยาเพชรพิไชยกับคุณหญิงแฉ่ง ที่ชื่อ เสน ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับบิดา และเข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเสน่หาภูธร ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาจ่าแสนยากร ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) มีบุตรธิดา 5 คน ธิดา 3 คนถูกพม่าจับเป็นเชลยส่วนบุตร 2 คน ได้แก่เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนมา) และเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) รอดพ้นการถูกจับเป็นเชลยเพราะถูกส่งตัวให้ไปอยู่กับญาติที่ราชบุรีก่อนหน้านั้น เป็นต้นสกุล ศรีเพ็ญ, บุนนาค, บุรานนท์, จาติกรัตน์, ศุภมิตร, วิชยาภัย, บุนนาค, ภาณุวงศ์ ฯลฯ

จนในสมัยรัตนโกสินทร์ถือว่าผู้สืบเชื้อสายเฉกอะหมัดนับเป็นสายวงศ์สกุลที่มี อิทธิพลมากที่สุดในการบริหารราชการแผ่นดินโดยสายมุสลิมส่วนใหญ่ลูกหลานจะสืบตำแหน่ง "จุฬาราชมนตรี" จางวางกรมท่าขวา ซึ่งรับผิดชอบงานด้านการค้าขายทางเรือและการต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนสายพุทธ ส่วนใหญ่ก็จะได้ครองตำแหน่ง "สมุหนายก" หรือ "สมุหพระกลาโหม" ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดี ดูแลทั้งฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้ นอกจากนั้นเหล่าบุตรีของวงศ์เฉกอะหมัด ยังได้เป็นทั้งหม่อมห้าม นางใน พระสนมอยู่หลายองค์

ส่วนบิดาของพลเอกสนธิ คือพันเอกสนั่นนั้น สืบเชื้อสายมาจากท่านสง่า อะหะหมัดจุฬา ลูกของท่านช่วง ซึ่งเป็นลูกของท่านครูชื่น ที่นับถือกันเป็นนักปราชญ์ของมุสลิมฝ่ายชีอะห์โดยสาแหรกนี้ถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจน ในศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรีโดยนายทำเนียบ แสงเงิน ปรากฏอยู่ที่มัสยิดต้นสน

สำหรับสายสกุลบุนนาคนั้น เป็นตระกูลอำมาตย์เก่าแก่ที่รับราชการต่อเนื่องกันมาตลอดจนได้ครองตำแหน่งเสนาบดีที่ทรงอำนาจในหลายรัชกาลจนได้รับพระราชทานตำแหน่งสูงสุดคือ "สมเด็จเจ้าพระยา" หรือเทียบเท่าตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ถึง 3 คน

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นบุตรเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี (บุนนาค) กับเจ้าคุณนวล เริ่มรับราชการเป็นนายสุดจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก ในรัชกาลที่ 1 และเลื่อนตำแหน่งตามลำดับจนถึงรัชกาลที่ 4 จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์" ให้สำเร็จราชการตลอดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ใช้ตราสุริยมณฑลเทพบุตรชักรถ คนทั่วไปนิยมเรียกว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่" และเป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์แรกของวังหลวง มีอำนาจและอิทธิพลมากที่สุดในพระราชอาณาจักรรองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินและเจ้าชีวิต

ถัดมา คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติฯ (ทัด บุนนาค) คนทั่วไปนิยมเรียกขานว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย" เป็นน้องชายของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ซึ่งเป็นบุตรชายคนสุดท้องของ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)อีกคนหนึ่งที่เกิดกับเจ้าคุณนวล เข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นนายสนิทหุ้มแพรมหาดเล็ก จนถึงรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งจากพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา ขึ้นเป็น "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติฯ"

สำหรับตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยาคนสุดท้ายของสกุลบุนนาคคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)ซึ่งเป็นบุตรคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ เข้าถวายตัวเป็นมหาเล็กในรัชกาลที่ 2 เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เลื่อนเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก โดยรัชกาลที่ 3 รับสั่งให้เข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด

หลังจากที่รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคตกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคซึ่งนำโดย 3 พระยา คือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค) เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา (ทัด บุนนาค) รวมทั้งพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้พากันไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะที่ทรงครองสมณเพศเป็นวชิรญาณภิกขุเพื่อให้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติด้วยความพร้อมใจเป็นหนึ่งเดียว

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหพระกลาโหม หลังจากรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้ทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จเสวยราชย์แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์มีพระชนม์เพียง 15 พรรษาดังนั้นที่ประชุมจึงลงมติแต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนปี พ.ศ.2416 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะขณะนั้นพระยาศรีสุริยวงศ์มีอายุได้ 64 ปีเศษจึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และนับเป็นสมเด็จเจ้าพระยาคนสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงดารานพรัตน์ดวงดารามหาสุริยมณฑล ปฐมจุลจอมเกล้า

สำหรับสายสกุลบุนนาคอีกคนที่มีความสำคัญในช่วงคาบเกี่ยวการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือเจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) เป็นบุตรพระยาไพบูลย์สมบัติ (เดช บุนนาค) กับคุณหญิงสวน (สกุลเดิม ศิริวิสูตร) ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เข้าฝึกหัดรับราชการในกรมบัญชีกลาง กระทรวงยุติธรรม ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ และอุปนายกสภากาชาดไทยหลายสมัย ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 ได้เป็นผู้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของราชอาณาจักรไทย.

เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) เป็นมุสลิมชีอะหฺอิษนาอะชะรียะหฺ (สิบสองอิมาม) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2086 ณ ตำบลปาอีเนะชาฮาร ในเมืองกุม ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของศาสนาอิสลามตั้งอยู่บนที่ราบต่ำทางตอนเหนือของเตหะราน ในประเทศอิหร่าน

ในยุคสมัยที่ท่านเฉกอะหมัดเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยานั้น เป็นยุคที่โปรตุเกสเรืองอำนาจทางทะเลในแถบมหาสมุทรอินเดีย ทำให้พ่อค้าชาวพื้นเมืองต้องใช้เส้นทางขนส่งสินค้าทางบกเป็นช่วงๆ เส้นทางที่เป็นไปได้ในการเดินทางจากอิหร่านเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น คือเดินเท้าจากเมืองแอสตะราบาดเข้าสู่แคว้นคุชราตในอินเดียตะวันตก จากนั้น เดินเท้าตัดข้ามประเทศอินเดียมายังฝั่งตะวันออกทางด้านโจฬมณฑล จากนั้นลงเรือข้ามอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันมายังเมืองตะนาวศรีหรือเมืองมะริด แล้วจึงเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา

ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เฉกอะหมัดและบริวารได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนและห้างร้านค้าขาย อยู่ที่ตำบลท่ากายี ท่านค้าขายจนกระทั่งมีฐานะเป็นเศรษฐีใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา ท่านสมรสกับท่านเชย มีบุตร 2 คนและธิดา 1 คน

ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ท่านเฉกอะหมัดได้ช่วยปรับปรุงราชการกรมท่า จนได้ผลดี จึงโปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าขวาและ จุฬาราชมนตรี นับได้ว่าท่านเป็นปฐมจุฬาราชมนตรี (พ.ศ. 2145-2170) และเป็นผู้นำพาศาสนาอิสลามนิกายชีอะหฺอิษนาอะชะรียะหฺ มาสู่ประเทศไทย ต่อมาท่านเฉกอะหมัดพร้อมด้วยมิตรสหาย ร่วมใจกันปราบปรามชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่ง ที่ก่อการจลาจล และจะยึดพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ

ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้า ฯ ให้ท่านเฉกอะหมัดซึ่งมีอายุ 87 ปี เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายกจางวางกรมมหาดไทย ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.ศ. 2174 รวมอายุ 88 ปี ท่านเฉกอะหมัดนี้ท่านเป็นต้นสกุลของไทยมุสลิมหลายนามสกุลและสกุลบุนนาค เป็นต้นสกุลของเจ้าพระยาหลายท่านในระยะเวลาต่อมา อาทิ เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) เจ้าพระยาชำนาญภักดี (สมบุญ) เจ้าพระยาเพชรพิไชย (ใจ) และมีบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 3 ท่าน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) รวมทั้งเป็นต้นสกุลของสายสกุลที่มีความสำคัญต่อการปกครองประเทศตลอดมา สถานที่ฝังศพของท่านเฉกอะหมัด ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) เกิดเมื่อปีใดไม่ปรากฏ บิดาคือพระยาศรีเนาวรัตน์ (อากามะหะหมัด) มารดาชื่อท่านชี เป็นน้องชายของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) มีศักดิ์เป็นหลานตาของเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) เริ่มรับราชการโดยถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนได้เป็นหลวงศรียศ (แก้ว) ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรี (พ.ศ. 2199-2225) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา ไม่ทราบว่าเสียชีวิตเมื่อใด

ช่วงที่ท่านเป็นจุฬาราชมนตรีอยู่นั้น เป็นช่วงที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เรืองอำนาจและมีความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์และมุสลิมในราชอาณาจักรมาก และคาดว่าท่านเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เอ่ยถึงว่าลงไปเจรจาที่เมืองปัตตาเวียเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในมะละกาในจดหมายที่เขาส่งถึงบาทหลวงเดอลาแซส

พระยาจุฬาราชมนตรี (สน) เกิดเมื่อปีใดไม่ปรากฏ บิดาคือพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) มารดาชื่อคุณหญิงแสง มีศักดิ์เป็นหลานของพระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) เข้ารับราชการในกรมท่าขวาเป็นหลวงศรียศ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จนได้รับตำแหน่งพระยาจุฬาราชมนตรี (พ.ศ. 2275-2301) ไม่ปรากฏว่าเสียชีวิตเมื่อใด

พระยาจุฬาราชมนตรี (เซน) เป็นบุตรของพระยาเพชรพิชัย (ใจ) กับคุณหญิงแฉ่ง เกิดเมื่อปีใดไม่ปรากฏ บิดาและน้องชายของท่านเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่วนท่านยังนับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะหฺ ต่อมา เข้ารับราชการในกรมท่าขวาและกองอาสาจามจนได้รับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ได้รับพระราชทานเกียรติยศเสมอเจ้าพระยาพระคลังแต่มิได้ตั้งให้เป็นเจ้าพระยา ไม่ทราบว่าเสียชีวิตเมื่อใด บุตรของท่านชื่อ ก้อนแก้ว ได้เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกในสมัยรัตนโกสินทร์

พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (เซน) และคุณหญิงก้อนทอง รับราชการเป็นมหาดเล็กตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ตอนปลายกรุงศรีอยุธยาจนเสียกรุงเมื่อ พ.ศ. 2310 เมื่อเสียกรุงได้หลบหนีข้าศึกมารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาได้เป็นขุนป้องพลขันธ์ และหลวงศรีเนาวรัตน์ตามลำดับ ได้ร่วมรบกับข้าศึกจนผลัดแผ่นดินเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี มีหน้าที่กำกับราชการกรมท่าขวาและดูแลมุสลิมทั่วราชอาณาจักร ถือเป็นจุฬาราชมนตรีท่านแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ท่านถึงแก่อนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่ออายุได้ 82 ปี ศพของท่านฝังอยู่ที่มัสยิดต้นสน

พระยาจุฬาราชมนตรี (อากายี) หรืออากาหยี่ เป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (เซน) และเป็นน้องชายของพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ได้เป็นจุฬาราชมนตรีต่อจากพี่ชายจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ 2 มีบุตรธิดารวม 15 คน บุตรของท่านคนหนึ่งชื่อ กลิ่น ได้เป็นหลวงโกชาอิศหากในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ส่วนบุตรอีกคนชื่อน้อย ได้เป็นจุฬาราชมนตรี

พระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) เกิดในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ท่านถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาขณะอายุเพียง 13 -14 ปี ต่อมาได้บวชเป็นสามเณรเรียนวิชาไสยศาสตร์กับอาจารย์ชาวเขมร อยู่พม่า 7 ปี จนอายุ 19 ปีจึงหนีกลับเข้าไทยทางแม่สอดไปหาบิดาที่ขณะนั้นไปราชการทัพที่เชียงใหม่และเชียงแสน

เมื่อกลับมา ท่านได้เรียนวิชาทางศาสนาอิสลามใหม่ และได้เข้ารับราชการในกรมทหารอาทมาตในสมัยรัชกาลที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 2ได้เป็นหลวงภักดีสุนทร ได้ร่วมรบในสงครามตีเมืองถลางและไทรบุรี เมื่อเสร็จศึกได้เป็นพระยาวรเชษฐ์ภักดีศรีวรข่าน ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3

ท่านมีชื่อทางศาสนาอิสลามว่า อามิรระชามุฮัมหมัด สมรสกับคุณหญิงนก มีบุตรธิดา 4 คน ถึงแก่อสัญกรรมในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3

พระยาจุฬาราชมนตรี (น้อย) เป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (อากายี) มารดาชื่อคุณหญิงสะ มีชื่อทางศาสนาว่ามูหะหมัดบาเกร เกิดเมื่อปีใดไม่ปรากฏ เริ่มรับราชการในกรมท่าขวา สมัยรัชกาลที่ 4 ได้เป็นหลวงศรีเนาวรัตน์ และได้เป็นจุฬาราชมนตรีเมื่อพระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) ถึงแก่อนิจกรรม ท่านเป็นจุฬาราชมนตรีจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2410

พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) เป็นบุตรของพระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) มารดาคือคุณหญิงนก เกิดในสมัยรัชกาลที่ 2 แต่ไม่ทราบปี เข้ารับราชการในกรมท่าขวาในสมัยรัชกาลที่ 3เป็นพระราชเศรษฐี ได้ว่าการคลังวิเศษในกรมท่าหลวง และกำกับชำระตั๋วเฮียชำระฝิ่นและได้เลื่อนเป็นจางวางคลังวิเศษกำกับราชการกรมพระคลังนอก คลังพิเศษ คลังในซ้าย พระคลังใน คลังคำนวณ กำกับภาษีร้อยชักสาม ในสมัยรัชกาลที่ 4

นอกจากนั้น ท่านยังมีส่วนร่วมในการปราบจลาจลภาคใต้ และวางระเบียบปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ และเป็นข้าหลวงตรวจการภาคใต้จนเหตุการณ์สงบ จนกระทั่งพระยาจุฬาราชมนตรี (น้อย)ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2410 ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีสืบแทนจนถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2432 ศพของท่านฝังอยู่ที่มัสยิดต้นสน

พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) กับคุณหญิงกลิ่น เกิดเมื่อ พ.ศ. 2391 เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กตั้งแต่อายุ 18 ปี เข้ารับราชการ มียศเป็นนายฉลองไนยนารถ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ย้ายมากรมท่าขวา ได้เป็นหลวงราชเศรษฐี

เมื่อบิดาถึงแก่กรรมจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี เมื่อ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 นอกจากนั้นยังเป็นผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศในกระทรวงยุติธรรมอีก ตำแหน่งหนึ่ง ท่านเป็นข้าราชการที่สนิทชิดเชิ้อกับรัชกาลที่ 5 เป็นพิเศษ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และพานทองเทียบชั้นเจ้าพระยาพานทอง เมื่อท่านเจ็บป่วย โปรดให้แพทย์หลวงมาดูแลรักษา ถึงแก่กรรมเมื่อ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2453 รวมอายุ 65 ปี รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการแห่ศพทางน้ำอย่างสมเกียรติ พระราชทานไม้นิซ่านปักที่หลุมศพของท่านและทรงเป็นประธานในพิธีฝังศพด้วยพระองค์เอง

พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน อหะหมัดจุฬา) มีชื่อทางศาสนาว่า มิซซา อาลีระชา เกิดเมื่อ พ.ศ. 2411 เริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เป็นปลัดกรมท่าขวาตำแหน่งหลวงราชาเศรษฐี เมื่อ พ.ศ. 2432 ต่อมาย้ายไปรับราชการกระทรวงยุติธรรมฝ่ายการเงินแล้วเลื่อนขึ้นเป็นจ่าศาลต่างประเทศ ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2454

นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาในด้านศาสนาอิสลามให้กับรัชกาลที่ 6 จนได้รับพระราชทานนามสกุล "อหะหมัดจุฬา" เมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 มีบุตรหลายคน ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 22 เมษายน พ.ศ. 2466 รวมอายุได้ 55 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จมาเป็นประธานในพิธีฝังศพแทนพระองค์ด้วย

พระจุฬาราชมนตรี (เกษม อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน อหะหมัดจุฬา) กับนางแดง อหะหมัดจุฬา มีชื่อทางศาสนาว่า มุฮัมมัดระชา เกิดเมื่อ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433 เริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็ก ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้รับราชการในกระทรวงยุติธรรมสังกัดกรมกองแสตมป์ มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงศรีเนาวรัตน์ ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2466 โดยดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกองแสตมป์ สังกัดกระทรวงยุติธรรมด้วย ถึงแก่กรรมเมื่อ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 รวมอายุได้ 36 ปี

พระจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (สัน อหะหมัดจุฬา) กับคุณหญิงถนอม เกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2437 เข้ารับราชการในกรมท่าขวา ได้เป็นหลวงราชเศรษฐีเมื่อ พ.ศ. 2456 ได้รับการแต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2473 ถือเป็นจุฬาราชมนตรีคนสุดท้ายในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถึงแก่กรรมเมื่อ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 รวมอายุได้ 56 ปี

*********************************************

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์และเป็นคนในสายสกุลเฉกอะหมัดที่นับถือนิกายชีอะหฺมาตลอด เปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งโดยตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้นับถือนิกายสุหนี่ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของมุสลิมในประเทศไทย

เริ่มแรกในรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2488 โดยให้เป็นที่ปรึกษาราชการขององค์พระมหากษัตริย์ ในด้านกิจการศาสนาอิสลาม จนกระทั่ง พ.ศ. 2491 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนให้จุฬาราชมนตรีเป็นที่ปรึกษากรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากที่พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามประกาศใช้ ได้มีการระบุไว้ในกฎหมายนี้ว่า จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • ให้คำปรึกษา และความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
  • แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติศาสนาอิสลาม
  • ประกาศผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
  • ออกประกาศเกี่ยวกับวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

นอกจากนั้น กฎหมายฉบับนี้ ยังให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่มีจุฬาราชมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีบทบาทในด้านการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามมากกว่า [สำนักจุฬาราชมนตรี]

ต่อมามีการประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่คือ พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ได้รับเลือกให้เป็นจุฬาราชมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2540 ขณะมีอายุได้ 82 ปีเศษ เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งตามกฎหมายฉบับนี้ และเป็นประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยด้วย โดยดำรงตำแหน่งจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553

[ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี]
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น