ก็เป็นเรื่องน่าแปลกสำหรับประเทศไทยที่มีกระแสเกิดขึ้นพร้อมๆกัน หากเป็นคนละเนื้อหากับความมุ่งหมาย ซึ่งถูกผลักดันเสมือนว่าพร้อมจะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน...
กระแสหลักที่ค่อนข้างจะเชื่อกันมากที่สุดคือ ทิศทางของสังคมนี้คงจะมุ่งเข้าสู่การแย่งอำนาจในโหมดนั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นข่าวสารและความเชื่อหลัก รวมจนถึงความคาดหมายสำหรับผู้คนที่ยังสนับสนุนอยากให้บ้านเมืองได้เดินหน้าด้วยการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เสียงทักท้วงและวิพากษ์วิจารณ์ที่พันเกี่ยวไปถึง “ข่าวลือเรื่องไม่มีการเลือกตั้ง” ก็ยังปรากฏเล็ดลอดออกมา
หัวข้อการอภิปรายจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะโอกาสในการเลือกตั้ง สามารถถกเถียงเกี่ยวกับกรณีไม่มี แต่จะไม่มีด้วยวิธีไหน? พร้อมกันนั้นยังต้องถามอีกว่า หากมีจะมีกันอย่างไร? ประเด็นของมาตรา 7 คงมีการพูดถึงที่น้อยลงไป แต่ยังคงเป็นเรื่องจำเป็นจะต้องเอามาถกต่อในหัวข้อของการใช้อำนาจพิเศษแบบจัดให้มีเลือกตั้งชนิดล็อกสเปก?
เพราะโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงมาตรา 7 คนไทยเราส่วนใหญ่มักเข้าใจไปเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงด้วยอ้างอิงอำนาจพิเศษ เช่น ไม่มีการเลือกตั้ง การเกิดนายกรัฐมนตรีจากคนนอก...ความจริงแล้วมาตรา 7 ยังมีมุมมองแห่งความอาถรรพณ์มากกว่านั้น ซึ่งไม่เคยพูดถึงกัน?
ตัวอย่างที่นำมาย้อนพูดถึงใหม่นี้ถือเป็นอาถรรพณ์อีกลักษณะ ได้แก่ การจัดให้มีการเลือกตั้งในลักษณะพิเศษ ซึ่งเราควรรับทราบเอาไว้ว่าวิธีคิดแบบนี้ก็มีอยู่ในประเทศไทยของเรา?
มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญซึ่งระบุ “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ประเด็นของมาตรา 7 เลยถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งลุ่มลึกและกว้างขวางมาตลอดเวลา มี Commentator อีกจำนวนไม่น้อยคิดเห็นว่า “การตีความมาตรา 7 จำเป็นจะต้องตีความเพื่อรักษาและให้ดำเนินไปภายใต้กรอบของระบอบประชาธิปไตยให้มากที่สุด”
ด้วยทรรศนะนี้จึงถูกเชื่อมโยงเข้าไปถึงกระแสความเป็นไปไม่ได้สำหรับการกดดันให้ กกต. ลาออกก่อนจะมีการจัดการเลือกตั้ง เนื่องจากทั้งกฎหมาย กกต. รวมทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดโอกาสที่จะให้ “ว่าง” กกต. ตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 230, 231 คงเห็นได้ชัดเจนที่กระบวนการคัดสรร กกต. ถูกบัญญัติเอาไว้ให้ดำเนินการหลายช่องทาง?
ผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองจำนวนไม่น้อยจึงไม่เห็นด้วยว่า “เกมบีบให้ กกต. ลาออก แล้วเลือกตั้งโดยไม่มี กกต. จะสามารถเกิดขึ้นได้” ขณะเดียวกันแหล่งข่าววงในอีกส่วนหนึ่งมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไปภายใต้ความเชื่อ “ชนิดเหลือเชื่อ” พวกเขาให้เหตุผลในประสบการณ์ทางการเมืองเท่าที่ผ่านมาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถถูกจัดและสร้างให้เกิดได้ทั้งสิ้นถ้าเป็นความประสงค์ของอำนาจตัวจริง หากอธิบายด้วยเหตุผลตัวบทกฎหมาย การลาออกของ กกต. ย่อมไม่มีปัญหา แม้นลาออกทั้งหมดก็ยังคงสามารถแต่งตั้งกลับเข้ามาได้ เมื่อพิจารณาให้เป็นไปตามหลักการ “การจัดการเลือกตั้งกับบทบาทของ กกต. เห็นจะไม่ต้องไปกังวลอะไรนัก?”
จากทรรศนะดังกล่าวข้างต้นได้เจาะลึกลงไปถึงความเชื่อ “ชนิดเหลือเชื่อ”
เพราะอาจมีสิ่งที่เกิดขึ้นชนิดเหนือคาดหมายได้ เรียกว่าไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ “เมื่อถึงเวลาจริงๆมีโอกาสเป็นไปได้ในการเกิดกลทางการเมือง ซึ่ง กกต. จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่ง แม้มีการเลือกสรรเข้ามาใหม่ตามกฎหมาย หากแต่กฎหมายก็ยังอาจถูกเล่นเกมเพื่อผลักดันวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นให้เข้าสู่จุดตันจนได้”
ครั้นถึงจุดนั้นย่อมจะเป็นโอกาสที่ผสมกับอาการ “อย่างหนา” แล้วก็เป็นไปได้ทั้งนั้นที่จะมีการงัดเอามาตรา 7 เข้ามาใช้ หากมิใช่เป็นการผลักดันใช้เหมือนอย่างที่เราเคยชินและคาดหมาย อ้างและตีความมาตรา 7 ให้เป็นคุณต่อการรักษาระบอบการปกครองในแบบประชาธิปไตยเอาไว้ คือเป็นมาตรา 7 ซึ่งยังยืนยันที่จะผลักดันให้การเลือกตั้งยังดำเนินไป
โดยมาตรา 7 เวอร์ชั่นนี้อาจจะมาแปลกจนกระอักกระอ่วนแบบบอกไม่ถูก บรรยายได้ยากอยู่ไม่น้อย เชื่อไหมว่าเคยมีคนคิดเหตุผลในเวอร์ชั่นนี้ได้อย่างน่าสนใจเหลือเกิน เพราะในเมื่อไร้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเอามาบังคับแก่กรณีใด ก็ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...
เวอร์ชั่นนี้เลยตีความว่าในเมื่อ กกต. ทำหน้าที่ไม่ได้ก็ต้องวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง ดังนั้น เมื่ออดีตกระทรวงมหาดไทยเคยรับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง ครั้นไม่มี กกต. ทำหน้าที่ ก็ให้เอากระทรวงมหาดไทยนี้แหละเข้าทำหน้าที่แทนได้เป็นไปตามประเพณีการปกครอง ถูกต้องเปี๊ยบตรงตามรัฐธรรมนูญ...
ครับ...เยี่ยมไหมครับเวอร์ชั่นของมาตรา 7 ซึ่งเคยพูดถึงกันอยู่เมื่อตอนต้นเดือนเมษายน ช่วงนี้หลังสงกรานต์แล้วจึงเริ่มแผ่วหายกันไป แต่ของอย่างนี้อย่าประมาทเด็ดขาดสำหรับเหตุการณ์โลกย้อนยุคที่อะไรก็สามารถโผล่ๆผลุบๆขึ้นมาได้ใหม่ตลอดเวลา?
***************************** |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น