เปิดเสนอแก้มาตรา112ลดโทษหมิ่นกษัตริย์-ราชินี-รัชทายาท-ตัวแทนพระองค์ http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10123 คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ชงข้อเสนอ 7 ข้อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เรื่องหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ให้แยกโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกจากกัน โดยให้มีโทษลดหลั่นกันไปตามความเหมาะสมของสถานะ ลดโทษจำคุกให้สูงสุดไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท ไม่กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำ เพื่อเปิดให้ศาลใช้ดุลยพินิจให้เหมาะสมกับกรณี นอกจากนี้ยังเปิดช่องให้ยกเว้นโทษหากเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ วันที่ 27 มี.ค. 2554 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร จัดให้มีการอภิปรายเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หลังการอภิปรายคณะนิติราษฎร์ฯได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มนุษย์มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ข้อเสนอระบุว่า มนุษย์ไม่ว่าจะชาติกำเนิดใด ดำรงตำแหน่งสถานะใด ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีเหตุผล มีความสามารถอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่จะขาดเสียมิได้ หากจะมีการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว รัฐต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และจะจำกัดจนถึงขนาดกระทบต่อสารัตถะแห่งเสรีภาพนั้นมิได้ กฎหมายไม่เหมาะสมหลายประการ กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่โครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และการบังคับใช้ ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวไม่มีการยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งในปัจจุบันปรากฏชัดว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริตและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คณะนิติราษฎร์ฯจึงเห็นควรเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้ เสนอยกเลิกมาตรา 112 ประการที่ 1 ให้ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มีเหตุผลคือ 1.มาตรา 112 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 วันที่ 21 ต.ค. 2519 ซึ่งเป็น “กฎหมาย” ของคณะรัฐประหาร จึงขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย 2.ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ฯเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบทบัญญัติต่างๆในประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เพื่อนำไปบัญญัติขึ้นใหม่เป็นลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แก้ไขกฎหมายแยกประเภทความผิด ประการที่ 2 ตำแหน่งแห่งที่ของบทบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีข้อเสนอดังนี้ 1.เพิ่มเติมลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา 2.นำบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไปบัญญัติไว้ในลักษณะอื่น หมิ่นประมาทไม่กระทบความมั่นคง มีเหตุผลสนับสนุนคือ ลักษณะของความผิด ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ ต่อบูรณภาพ และต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แบ่งแยกการคุ้มครองตามสถานะ ประการที่ 3 ตำแหน่งที่ได้รับการคุ้มครองมีข้อเสนอคือ แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้ มาตรา...“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ...” มาตรา...“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ...” ให้สอดคล้องข้อกำหนดกฎหมายอื่น เหตุผลสนับสนุนข้อเสนอนี้คือ เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งแยกการคุ้มครองระหว่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในความผิดฐานอื่นๆ กล่าวคือ ความผิดฐานปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ (มาตรา 107), ความผิดฐานปลงพระชนม์พระราชินี รัชทายาท และความผิดฐานฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 109), ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ (มาตรา 108), ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 110) ลดอัตราโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ประการที่ 4 เรื่องอัตราโทษ มีข้อเสนอดังนี้ 1.ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ 2.ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 3.ลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ ให้ศาลใช้ดุลยพินิจ ข้อเสนอนี้มีเหตุผลสนับสนุนคือ 1.ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่มีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญจึงยิ่งไม่ควรมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานดังกล่าว 2.เปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษตามควรแก่กรณี 3.เป็นการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้สมแก่สถานะแห่งตำแหน่ง จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงที่สูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ อันเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงลดลงจากเดิม 4.โดยเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ ซึ่งมีสถานะแตกต่างจากพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงกำหนดอัตราโทษขั้นสูงให้แตกต่างกัน เปิดช่องให้ยกเว้นโทษได้ ประการที่ 5 เหตุยกเว้นความผิด มีข้อเสนอเพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด ดังนี้ มาตรา...“ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา... และมาตรา...” เหตุผลสนับสนุนข้อเสนอคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว ไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา พิสูจน์ได้ไม่มีความผิด ประการที่ 6 เหตุยกเว้นโทษ มีข้อเสนอ เพิ่มเติมเหตุยกเว้นโทษ ดังนี้ มาตรา...“ความผิดฐานต่างๆในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์” เหตุผลสนับสนุนคือ แม้การกระทำนั้นเป็นความผิด แต่หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงข้อความที่เป็นจริงและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็สมควรได้รับการยกเว้นโทษ ให้สำนักราชเลขาฯกล่าวโทษ ประการที่ 7 ผู้มีอำนาจกล่าวโทษ มีข้อเสนอดังนี้ 1.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2.ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เหตุผลสนับสนุนข้อเสนอคือ 1.เพื่อมิให้บุคคลทั่วไปนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต 2.โดยเหตุที่สำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ จึงสมควรให้ทำหน้าที่ปกป้องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเสนอทั้ง 7 ประการ ประกอบด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล นายธีระ สุธีวรางกูร น.ส.สาวตรี สุขศรี และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะนิติราษฎร์ฯยังได้ยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ขึ้นมาด้วย โดยระบุว่าผู้ที่สนับสนุนการแก้ไขสามารถนำไปรณรงค์กับประชาชนและเสนอต่อสภาได้ ซึ่ง “โลกวันนี้” จะนำรายละเอียดร่างกฎหมายมานำเสนอในโอกาสต่อไป* |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น