วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

ผลประโยชน์ “ธุรกิจบุหรี่” ปริศนารัฐบาลเกรงใจมะกัน


[Image: article-8595--p25031112.jpg]

กรณีซักฟอกภาษีบุหรี่ ที่พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส. พรรคเพื่อไทย หยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามใส่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับคนในแวดวงธุรกิจแล้ว ยอมรับว่านี่คือจุดที่สะท้อนชัดได้ดีว่า รัฐบาลปัจจุบัน เกรงอกเกรงใจประเทศสหรัฐอเมริกามากเป็นพิเศษ

ก่อนหน้านั้น กรณีของ นายวิคเตอร์ บูท พ่อค้าอาวุธชาวรัสเซีย ที่ติดคุกอยู่ที่เมืองไทย แล้วทำให้รัฐบาลไทยตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเลือกข้าง เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต้องการให้ส่งตัวไปให้ในฐานะคนร้ายข้ามแดน

ในขณะเดียวกันประเทศรัสเซียเองก็ต้องการตัวด้วยเช่นกัน เพราะไม่ต้องการให้นายบูท ตกไปอยู่ในมือของสหรัฐอเมริกา

ซึ่งสุดท้ายจะเพราะกลไกทางการเมือง หรือความเกรงอกเกรงใจสหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่ปรากฏว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เลือกที่จะส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท ไปให้สหรัฐอเมริกา

ดังนั้นในครั้งนี้ก็เช่นกันที่ บริษัทบุหรี่อย่าง ฟิลลิป มอร์ริส จึงถูกมองว่า มีการเกรงอกเกรงใจเป็นพิเศษด้วยหรือไม่???

เพราะที่สำคัญในเรื่องนี้เกี่ยวพันกับเงินรายได้ภาษีของประเทศกว่า 6.8 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว!!!

ซึ่งในศึกอภิปราย ประชาชนส่วนใหญ่ฟังแล้ว ก็จะบอกว่างงๆ ไม่กระจ่างๆ 

ประชาชนยังไม่รู้ว่า สุดท้ายแล้วข้อมูลฝ่ายไหนน่าเชื่อกว่ากัน เพราะระบบรัฐสภาในปัจจุบัน เกิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถที่จะไปเตรียมทำการบ้านไว้ก่อนล่วงหน้าได้ จากการที่ฝ่ายค้านจะต้องยื่นเอกสารให้ตรวจสอบก่อนว่าจะใช้ในการอภิปรายได้หรือไม่

แล้วมือระดับพรรคประชาธิปัตย์ยุคปัจจุบัน มือระดับนายอภิสิทธิ์ ซึ่งปกติถูกถามเมื่อไหร่ ก็สามารถตอบได้ทันทีทุกเรื่อง... อย่างไม่น่าเชื่อนั้น เมื่อมารู้ข้อมูลก่อน ก็ย่อมสามารถที่จะทำการบ้านล่วงหน้าได้อย่างสบาย

ผลก็คือเรื่องนี้ ส.ส.ในสภา โหวตผ่านโดยไม่ได้ให้ความสำคัญแต่อย่างใด

ในขณะที่ประชาชน ก็ยังมึนๆ งงๆ ว่าตกลงแล้ว พิรุธในเรื่องนี้อยู่ตรงไหนกันแน่

เพราะหลังการอภิปรายซักฟอก ปรากฏว่า ทางอัยการสูงสุดซึ่งถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า ทำไมจึงสั่งไม่ฟ้อง ก็ได้มีการออกมาชี้แจงอย่างรวดเร็ว โดย นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกมายืนยันกรณีที่มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลเข้าแทรกแซงอัยการเพื่อไม่ให้มีการสั่งฟ้องบริษัทบุหรี่นอกยี่ห้อดัง นั้น 

โดยระบุชัดเจนว่า ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงอัยการได้!!! 

เพราะอัยการพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวน พบว่า แม้บริษัทดังกล่าว และบริษัทอีกแห่ง จะนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อเดียวกันก็จริง แต่แหล่งที่มา วิธีการจำหน่ายและ “ค่าภาระภาษี” ของสองบริษัท แตกต่างกัน 

เนื่องจากบริษัททั้งสองแห่งมีการนำเข้าที่แตกต่างกัน ทำให้ต้นทุนบุหรี่สองยี่ห้อต่างกัน ตรงนี้จึงไม่อาจกำหนดราคาให้เท่ากันได้ 

ปัญหามาเกิดขึ้น ก็เพราะว่าทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กลับเอาราคาจาก 2 แหล่งกำหนด มาพิจารณาประกอบในคราวเดียวกัน ซึ่งไม่สมเหตุสมผล 

โดยมีการให้ข้อมูลด้วยว่า บริษัทบุหรี่ยี่ห้อดัง มีภาระภาษี 5 ประเด็น ที่มากกว่าบริษัทคู่แข่ง คือ 

1. บริษัท ฟิลลิปฯ เสียให้กรมศุลกากรต้นทุนซองละ 7.76 บาท ต้องเสียร้อยละ 5 ต่อซอง 

2. เสียภาษีแสตมป์ยาสูบราคา 40 บาท ต่อซอง 

3. ต้องเสียให้ สสส.ร้อยละ 2 ต่อซอง

4. เสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ต่อซอง

และ 5. เสียให้ อบจ.อีก 

อีกทั้งกรมสรรพสามิตกำหนดให้ขายไม่เกินซองละ 55 ถึง 78 บาท ถ้า บริษัทดังกล่าวจะขายบุหรี่ให้ได้ ก็ต้องขายในราคาต้นทุนบวกภาษีที่เหมาะสม และราคาต้องไม่เกิน 78 บาท จึงจะขายได้ ซึ่งกรมสรรพสามิต บอกว่าต้องมีภาระภาษีทั้ง 5 ประการจึงจะถูก

ต่อมาทางบริษัทบุหรี่ชื่อดัง จึงไปฟ้อง ดับบลิวทีโอ และรัฐเป็นฝ่ายแพ้ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ 

และทางบริษัทได้ขอวางเงินประกันแล้วเอาบุหรี่ออกไป 

สรุปว่าอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะทางกรมศุลกากรส่งเอกสารมาให้อัยการ เป็นฉบับวันที่ 8 ต.ค.52 หลังจากที่ ดีเอสไอ ส่งสำนวนให้อัยการ 

โดยนางฉวีวรรณ อธิบดีกรมศุลฯ ได้เข้าตรวจพบการเก็บภาษีแล้ว “ไม่พบความผิด” 

ซึ่งเอกสารนี้เพิ่งมาปรากฏในชั้นอัยการ ไม่ปรากฏในชั้นสอบสวน อัยการจึงได้มีการสั่งสอบเพิ่มเติมในประเด็นนี้ โดยให้สอบอธิบดีฯ ฉะนั้นเมื่อกรมศุลฯ เห็นว่าไม่พบความผิด แล้วอัยการจะเห็นว่าผิดได้อย่างไร 

เช่นเดียวกับกรมสรรพสามิต ก็ยืนยันไม่พบความผิดเช่นกัน
นายธนพิชญ์ กล่าวว่า แม้อัยการจะร่วมสอบสวนกับดีเอสไอ แต่คนที่สรุปการสอบสวนและมีความเห็นคือดีเอสไอฝ่ายเดียว เมื่อดีเอสไอสั่งไม่ฟ้อง อัยการสั่งไม่ฟ้อง ดีเอสไอก็ต้องรับสำนวนไปพิจารณา หากมีความเห็นพ้องกับอัยการ คดีก็จบ 

ถ้าเห็นแย้ง ก็ต้องส่งอัยการสูงสุดชี้ขาด 

อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัว นายธนพิชญ์ คาดว่าดีเอสไอ คงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกับอัยการ 

เพราะเอกสารจากกรมศุลฯ ที่บอกว่าไม่พบความผิดของ บริษัทบุหรี่ดังกล่าว เพิ่งมาปรากฏในสำนวนในภายหลังนี่เอง 

หากดีเอสไอ ยืนยันจะฟ้อง ก็เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดจะชี้ขาดต่อไป

ครั้งนี้เป็นอีกครั้งของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่มีเรื่องของเงื่อนทางกฎหมาย และระบบยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหากว่าในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ไม่เคยถูกตั้งคำถามจากสังคมในเรื่องของ 2 มาตรฐานมาก่อน... เชื่อว่าเรื่องนี้ก็คงจะจบลงได้ไม่ยาก

แต่เพราะว่า ที่ผ่านมารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ได้รับการอุ้มชูเอ็นดูเป็นพิเศษจากกลุ่มขั้วอำนาจที่หนุนหลังอยู่ ทำให้เรื่องของการยอมรับในสังคมมีปัญหามาโดยตลอด เนื่องจากถูกมองว่า หากเป็นพรรคการเมืองอื่นๆ ทำอะไรก็ผิดไปหมด

แต่หากเป็นพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ทำอะไรก็ไม่ผิด???
เรื่องของภาษีบุหรี่นอก จึงไม่ได้จบแค่ในสภา เหมือนกับกรณีอื่นๆ ที่ถูกอภิปรายซักฟอก โดยเฉพาะสื่อมวลชน ยังคงเกาะติดในประเด็นนี้อยู่อย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้มีกลิ่นตุๆ ให้รู้สึกทะแม่งๆ ได้จริงๆ

แม้แต่คอลัมน์ สำนักข่าวหัวเขียว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันอังคารที่ 22 มีนาคม 2554 ยังหยิบยกกรณีภาษีบุหรี่ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์

โดย “แม่ลูกจันทร์” ได้เขียนว่า

มีคำถาม แบบชาวบ้านๆ ถามรัฐบาลแค่ 3 ประเด็น

1. เป็นไปได้อย่างไร บุหรี่ยี่ห้อเดียวกัน ผลิตจากบริษัทเดียวกัน นำเข้าประเทศไทยเหมือนกัน รายหนึ่งแจ้งราคาซองละ 7.80 บาท อีกรายแจ้งราคาซองละ 27.46 บาท ต่างกันถึง 400 เปอร์เซ็นต์??

2. เป็นไปได้อย่างไร บุหรี่ยี่ห้อเดียวกัน บริษัทเดียวกัน แจ้งราคานำเข้าประเทศไทยซองละ 7.80 บาท แต่แจ้งนำเข้ามาเลเซียซองละ 19.95 บาท แจ้งนำเข้าสิงคโปร์ซองละ 20 บาท ผิดกันเกือบ 3 เท่าตัว??

3. จริงหรือไม่ว่าบริษัทนี้เคยถูกดำเนินคดีแจ้งราคาเป็นเท็จ ต้องจ่ายค่าปรับไปแล้วถึง 700 ล้านบาท เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา??

4. คดีแจ้งราคานำเข้าบุหรี่เป็นเท็จเกี่ยวพันกับผลประโยชน์มหาศาลของบริษัทเอกชน จำเป็นหรือไม่ที่คนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีต้องเข้าไปวุ่นวาย??

คำถามทั้ง 4 ข้อของแม่ลูกจันทร์ ที่บอกว่าเป็นคำถามแบบชาวบ้านนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ อาจจะไม่สามารถตอบให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายๆ แน่

เพราะในการตอบอภิปรายซักฟอก สไตล์ในการตอบจะใช้วิธีการโยนชิ่งไปโทษคนนั้นอ้างคนโน้นเสียเป็นส่วนใหญ่ 

และนั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมครั้งนี้กลายเป็นว่า อัยการสูงสุดต้องเป็นฝ่ายที่ออกมาชี้แจง

ในขณะที่ก็ได้คำตอบที่ บางกอก ทูเดย์ เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในข่าวปก ฉบับวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2554 ว่า ทำไมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้เงินของประเทศชาติจากภาษีประชาชน ไปรณรงค์ในเรื่องการต่อต้านเหล้าและบุหรี่ปีหนึ่งๆ กว่า 2,000 ล้านบาท

เท่ากับว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สสส. ใช้เงินไปกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อสู้กับธุรกิจเหล้าธุรกิจบุหรี่ แต่ในครั้งนี้ สสส.ซึ่งควรจะต้องรีบเข้ามามีบทบาท กลับเงียบจนผิดปกตินั้น

คำตอบก็คือข้อมูลที่ว่า บริษัทบุหรี่นอกรายนี้ต้องเสียภาษีให้ สสส.ร้อยละ 2 ต่อซอง นั่นเอง

ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า ทำไมทุกวันนี้ จึงมีบุหรี่นอกถูกกฎหมาย รสชาติระดับ แอลแอนด์เอ็มซองแดง แต่มีราคาขายปลีกแค่ซองละ 38 บาท ถูกกว่าบุหรี่ไทยที่ผลิตโดยโรงงานยาสูบ อย่างกรองทิพย์ซึ่งขายในราคาซองละ 48 บาท

ผลประโยชน์ธุรกิจบุหรี่นั้นมหาศาลจริงๆ

http://www.bangkok-today.com/node/8595

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น