วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

ไม่มีธรรมที่ใด ไม่มีความสงบที่นั่น
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10148


ผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ของคาบสมุทรอารเบียเป็นทะเลทรายที่ร้อนระอุและทุรกันดาร ด้วยลักษณะภูมิประเทศและสภาพอากาศเช่นนี้จึงไม่มีมนุษย์ภายนอกคนใดอยากไปตั้งถิ่นฐานที่นั่น นอกจากนี้ความห่างไกลจากความเจริญทำให้ชาวอาหรับในอดีตถูกชนชาติที่มีอารยธรรมในเวลานั้นอย่างเช่นชาวโรมันไบแซนติน ชาวเปอร์เซีย และชาวยิว มองว่าเป็นชนชาติป่าเถื่อนและโง่เขลา ซึ่งก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้


แต่นักประวัติศาสตร์ก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงอันมหัศจรรย์ได้เช่นกันว่า นบีมุฮัมมัดสามารถเปลี่ยนแปลงชนชาติอาหรับที่ถูกดูแคลนให้กลายเป็นชนชาติที่สร้างอู่อารยธรรมของโลกภายในเวลา 23 ปีแห่งการปฏิบัติภารกิจนำอิสลามมายังมนุษยชาติผ่านทางชาวอาหรับ

ในขณะที่ท่านนบีมุฮัมมัดมีชีวิตอยู่ มัสยิดของท่านถูกสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายจากทรายที่บดอัดแน่นเป็นพื้น มีลำต้นอินทผลัมเป็นเสา ผนังกำแพงทำจากดินผสมเศษไบไม้ใบหญ้าแห้งและหลังคามุงด้วยก้านอินทผลัม แต่มัสยิดแห่งนี้นอกจากจะทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์รวมในการสักการะพระเจ้าแล้ว ยังเป็นสถานที่ให้การศึกษาอบรมสาวก สถานที่ต้อนรับอาคันตุกะจากต่างแดน ที่ประชุมปรึกษาหารือ กองบัญชาการรบ ศาลตัดสินข้อพิพาทและสำนักงานบริหารราชการของรัฐอิสลามอีกด้วย

จากมัสยิดแห่งนี้เองที่แสงทองของอิสลามได้สาดส่องโลกให้สว่างไสวในเวลาต่อมาและทำให้ชาวอาหรับมุสลิมได้รับอำนาจและความรุ่งเรืองโดยที่ชาวอาหรับและชาวโลกในเวลานั้นยังไม่รู้จักน้ำมัน หรือทองคำสีดำที่เป็นเหมือนกับโลหิตของโลกในปัจจุบัน

ก่อนท่านนบีมุฮัมมัดเสียชีวิต ท่านได้กล่าวกับบรรดาสาวกของท่านว่า “ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ฉันไม่กลัวว่าพวกท่านจะจน แต่ฉันกลัวว่าโลกจะอุดมสมบูรณ์สำหรับพวกท่านดังที่มันเคยเป็นมาก่อนกับคนก่อนหน้าพวกท่าน แล้วพวกท่านก็แข่งขันกันเพื่อมันเช่นเดียวกับที่พวกเขาเคยแข่งขันกันเพื่อมัน ดังนั้น มันจึงทำลายพวกท่านเช่นเดียวกับที่มันได้ทำลายพวกเขาเหล่านั้นมาแล้ว”
ด้วยความเข้าใจในคำสอนนี้ สาวกผู้ใกล้ชิดสี่คนที่สืบอำนาจการปกครองต่อจากท่าน จึงดำรงชีวิตอย่างสมถะและยึดแนวทางการปกครองตามแบบอย่างของท่าน โดยมองเห็นประโยชน์สุขของผู้อยู่ใต้การปกครองเป็นสรณะ รัฐอิสลามจึงมีความแข็งแกร่งจนอาณาจักรเปอร์เซียทั้งหมดและโรมันตะวันออกส่วนหนึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของอิสลาม ความมั่งคั่งจากดินแดนต่างๆจึงไหลเข้าสู่นครมะดีนะฮฺไม่ต่างไปจากถนนทุกสายนำความมั่งคั่งเข้าสู่กรุงโรม

แต่หลังจากสมัยการปกครองของสาวกผู้ทรงคุณธรรมทั้งสี่สิ้นสุดลง การปกครองที่มีผู้นำตามแบบแผนของอิสลามได้ถูกเปลี่ยนเป็นระบบกษัตริย์ที่ใช้ระบบการสืบสันตติวงศ์ ราชวงศ์ที่ขึ้นมาปกครองยังคงมีความมั่งคั่ง แต่สถานภาพการปกครองของราชวงศ์กลับไม่มีความมั่นคงเพราะการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ในหมู่ผู้ต้องการอำนาจ

สิ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัดกลัวล่วงหน้านั้นเป็นความจริง ความมั่งคั่งทำให้ผู้มีอำนาจปกครองฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย หวงแหนทรัพย์สมบัติและอำนาจ ขณะเดียวกันก็อยากได้สองอย่างนี้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การกดขี่ขูดรีด การเอารัดเอาเปรียบจึงติดตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความเดือดร้อนและการลุกขึ้นต่อต้าน เมื่อคนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจและความมั่งคั่ง คนอีกกลุ่มหนึ่งก็อยากได้เช่นกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างอยากได้ ความขัดแย้งและการแย่งชิงก็เกิดขึ้น

การล่มสลายของอาณาจักรและราชวงศ์ต่างๆทั่วโลกในอดีตล้วนมาจากสาเหตุดังกล่าวทั้งสิ้น คนที่เรียนประวัติศาสตร์เข้าใจถึงความจริงในเรื่องนี้ได้ทุกคน
การใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยจากความมั่งคั่งจนเกินขอบเขตของศีลธรรม การคำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนตัวและผลประโยชน์ของพวกพ้องมากกว่าประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งผิดไปจากวัตรปฏิบัติของนบีมุฮัมมัดและสาวกรุ่นแรกๆ ทำให้อาณาจักรมุสลิมของราชวงศ์ต่างๆล่มสลายและถูกราชวงศ์อื่นขึ้นมาสลับสับเปลี่ยน

อาณาจักรออตโตมานซึ่งเป็นอาณาจักรสุดท้ายของมุสลิมล่มสลายไปก็เพราะสาเหตุดังกล่าวมา อาณาจักรออตโตมานถูกชาติตะวันตกฉีกออกเป็นรัฐชาติต่างๆที่มีการปกครองหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ระบบกษัตริย์ สังคมนิยมและประชาธิปไตย แต่แม้จะมีระบบการปกครองใหม่ รัฐเหล่านี้ล้วนมีปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมรุมเร้าเช่นกัน

ปัจจุบัน ชาติอาหรับหลายชาติได้รับความมั่งคั่งมากมายมหาศาลจากทรัพยากรน้ำมัน แต่แทนที่ความมั่งคั่งเหล่านี้จะตกไปถึงประชาชนในประเทศ ในทางตรงข้าม ความมั่งคั่งส่วนใหญ่กลับตกอยู่ในมือของชนชั้นผู้ปกครองเพียงไม่กี่คน สภาพเช่นนี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนผู้ยากจนลุกขึ้นมาประท้วงและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองไม่ว่าจะโดยความต้องการของประชาชนเองหรือแรงกระตุ้นจากภายนอก และทำให้ชาติอาหรับได้รับความอัปยศแม้รัฐบาลจะมั่งคั่งและมีกำลังอาวุธมากมายก็ตาม

การลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลและการก่อจลาจลในตูนิเซียและในอียิปต์ หรือในที่อื่นๆ เป็นบทเรียนให้ผู้ปกครองประเทศอาหรับและมิใช่อาหรับได้รู้ว่า แม้จะมีความมั่งคั่งและมีอำนาจหรือแสนยานุภาพเพียงใด แต่ถ้าประชาชนถูกทอดทิ้งให้ลำบากยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ทรัพย์สินและอำนาจก็ไม่สามารถค้ำบัลลังก์การปกครองได้

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 28 คอลัมน์ สันติธรรม โดย บรรจง บินกาซัน*

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น