วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

‘91 ศพ’ไม่มีคำตอบ
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10157


เบื้องหลังเบื้องลึกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมาคือการพูดถึงกระสุนปืนจำนวนมากที่เบิกมาจากคลังแสงของกองทัพบก ซึ่งจำนวนที่หายไปกับจำนวนศพของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นเรื่องที่ไม่มีใครตอบได้ว่าเอาไปใช้อะไร และทหารกับรัฐบาลคิดกับคนเสื้อแดงอย่างไร เขาเป็นคนไทยหรือไม่ เรื่องแบบนี้ไม่มีใครตอบได้


พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร บอกชัดเจนถึงการเบิกจ่ายกระสุนปืนจากหน่วยคลังแสงสรรพาวุธทหารบก (คส.สพ.ทบ.) ซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อหน่วยงานได้ ในหนังสือดังกล่าวระบุว่ามีการเบิกจ่ายกระสุนปืนเพื่อใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2553 เบื้องต้นตามเอกสารบัญรายการ สป.5 สนับสนุน ศอฉ. หน่วย คส.สพ.ทบ. ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2553 พบว่ามีการเบิกกระสุนปืนชนิดต่างๆ 9 รายการ เบิกจ่ายไปรวม 593,900 นัด

แยกได้เป็น 1.กระสุนปืนลูกซอง เบอร์ 00 จำนวน 4,000 นัด 2.กระสุนปืนลูกซอง เบอร์ 00 ไม่มีเลขงาน 350,000 นัด 3.กระสุนปืนใช้กับเอ็ม 16 จำนวน 2,000 นัด 4.กระสุนปืนเอ็ม 16 ชนิด A2 ชนิดหัวเขียว 150,000 นัด 5.กระสุนปืนเอ็ม 16 ชนิดซ้อมรบ 10,000 นัด 6.กระสุนปืนเอ็ม 16 ชนิดเจาะเกราะ 8,500 นัด 7.กระสุนปืนสไนเปอร์ 3,000 นัด 8.กระสุนปืนเอ็ม 60 จำนวน 2,000 นัด และ 9.กระสุนที่ใช้กับปืน ปรย.88 จำนวน 50,000 นัด ขณะเดียวกันมีบัญชีสรุปรายการ สป.5 รับคืนจาก ศอฉ. จำนวน 2 ครั้ง รวมกระสุนปืนที่ส่งคืน 522,753 นัด ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2553

จะสังเกตได้ว่ากระสุนที่ส่งคืนมี 522,753 นัด หายไปกว่า 70,000 นัด โดยไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่นำไปทำอะไร ซึ่งการเบิกจ่ายและส่งคืนนั้นเป็นการทำบัญชีย้อนหลัง คาดว่าน่าจะมีการทำบัญชีย้อนหลังอีกหลายฉบับ ที่สำคัญมีการเบิกกระสุนซุ่มยิงสำหรับปืนสไนเปอร์ อยากถามว่าทำไมต้องใช้ปืนสไนเปอร์สลายผู้ชุมนุม ทั้งที่คู่มือการปฏิบัติการในการสลายการชุมนุมต้องทำอย่างระมัดระวัง
ขณะที่ น.ส.อรุณี ชำนาญยา ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการสลายการชุมนุมของรัฐบาลว่า พี่น้องคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัดเข้ามาเพื่อขอให้นายกฯคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยการเลือกตั้งใหม่โดยสันติวิธี แต่ทำไมรัฐบาลถึงยกระดับความรุนแรงในการสลายการชุมนุมด้วยคำว่า “ขอคืนพื้นที่” ด้วยกองกำลังติดอาวุธ ด้วยรถหุ้มเกราะ

ที่สำคัญคำว่า “ผู้ก่อการร้าย” อยากให้เทียบกับความรุนแรงในภาคใต้ที่รัฐบาลยังใช้คำว่าผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ที่ก่อเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ ฆ่าพระ แต่เสื้อแดงกลับใช้คำว่าผู้ก่อการร้าย มีคนตาย 20 กว่าศพ เป็นภาพที่ฝังในใจของประชาชน รวมถึงทหารที่สูญเสียเพื่อนไป จนเกิดเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกิดการเสียชีวิตของ เสธ.แดง เผาบ่อนไก่ สีลม และที่ราชประสงค์ตาย 91 ศพ ติดคุกร่วม 300 คน เจ็บกว่า 2,000 คน วันนี้นายกฯตกอยู่ในที่นั่งลำบากจนยัดเยียดให้เสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย เพื่อปกปิดปกป้องความผิด นิรโทษกรรมตัวเอง มิฉะนั้นจะถูกข้อหาสั่งฆ่าประชาชนบนศาลโลกได้

อยากบอกว่าคำว่าผู้ก่อการร้ายใช้กับเสื้อแดงไม่ได้ เพราะเขามาชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น มาให้นายกฯยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่การสูญเสียเกิดจากการยกระดับความรุนแรงของนายกฯ เสื้อแดงไม่ได้ทำอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพทางอาญาอะไร ไม่ได้ทำอะไรเสียหายร้ายแรงต่อระบบสาธารณะ ไม่ได้ปิดทำเนียบ สนามบิน เอ็นบีที การชุมนุมไม่ถือเป็นการก่อการร้าย ไม่น่าใช้คำนี้ ต้องกลับไปใช้คำนี้กับคนที่สั่งการสลายเสื้อแดง

นายกฯตกที่นั่งลำบาก นั่งระหว่างเขาควายแล้ว ท่านหนีจากความกลัว จากคำว่าสั่งฆ่าประชาชน และยัดเยียดคำว่าผู้ก่อการร้ายต่อแกนนำ ประชาชน ลึกๆแล้วท่านคือผู้ก่อการร้ายเอง แม้จะพยายามสร้างภาพให้เกิดความปรองดอง แก้รัฐธรรมนูญ ประกาศยุบสภา แต่ก็สายไปแล้ว เพราะคำปรองดองไม่จริงใจ กลับเพิ่มความขัดแย้งขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 20 คอลัมน์ คนการเมือง โดย วัฒนา อ่อนกำปัง*

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น