วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

ถล่มลิเบียชอบธรรมหรือรุกราน?
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10152


คำประกาศกร้าวของ พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ที่เมื่อกลางดึกวันพุธที่ผ่านมา ที่ว่าลิเบียจะไม่ยอมแพ้ต่อกองกำลังต่างชาติที่รุกราน และจะต่อสู้ทุกวิถีทางไม่ว่าจะเป็นสงครามสั้นหรือยาว เป็นสัญญาณล่าสุดว่าผู้นำลิเบียจะไม่มีวันยอมแพ้ง่ายๆ


ปฏิบัติการ “โอดิสซีย์ ดอว์น” ของกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส เปิดฉากขึ้นเมื่อคืนวันเสาร์ โดยเครื่องบินรบของทั้ง 3 ชาติยิงจรวดโทมาฮอว์คจากเรือบรรทุกเครื่องบินในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สู่เป้าหมายหลักในกรุงตริโปลีและเมืองเบงกาซี จนสร้างความสูญเสียอย่างหนักต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ชอบธรรมหรือรุกราน

การโจมตีลิเบียซึ่งยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นคืนที่ 4 เมื่อวันอังคาร ได้สร้างคำถามขึ้นว่า เป็นไปอย่างชอบธรรมหรือไม่ และชาติตะวันตกคือผู้รุกรานตามที่ พ.อ.กัดดาฟีกล่าวหาใช่หรือไม่

เพราะหากดูจากมติที่ 1973 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่ประกาศบังคับใช้ “เขตห้ามบิน” เหนือน่านฟ้าลิเบียนั้น มีเป้าหมายเพื่อไม่ให้กองกำลังฝ่ายรัฐบาลลิเบียโจมตีทางอากาศเพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้าน โดยไม่ได้ระบุถึงการใช้มาตรการทางทหารไว้ด้วย

แต่ที่ประชุมผู้นำ 22 ชาติซึ่งมีบุคลสำคัญเข้าร่วมคือ ผู้นำฝรั่งเศส ผู้นำอังกฤษ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นายบัน คี-มูน เลขาธิการยูเอ็น นายอัมร์ มุสซา เลขาธิการสันนิบาตอาหรับ (อาหรับลีก) ได้เห็นพ้องต่อการกดดันผู้นำลิเบียมากขึ้นเพื่อบังคับใช้เขตห้ามบิน จากนั้นพันธมิตร 3 ชาติคือ สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส กลับเปิดฉากใช้กำลังทหารอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้ พ.อ.กัดดาฟีประท้วงไปยังยูเอ็นเอสซี พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาติตะวันตกยุติการโจมตีลิเบียทันที ส่วนรัฐบาลลิเบียกล่าวหาว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายในและคุกคามความมั่นคงระหว่างประเทศ

แม้แต่นายมุสซาบอกว่า การถล่มลิเบียไปไกลเกินกว่าวัตถุประสงค์หลักของการประกาศเขตห้ามบิน ด้านจีนและรัสเซียตำหนิการใช้กำลังทหาร ขณะที่เยอรมนีตั้งคำถามถึงขอบเขตการใช้กำลังทหาร โดยเห็นพ้องกับอิตาลีว่า การโจมตีของพันธมิตรตะวันตกในช่วง 3 วันมานี้พุ่งเป้าไปที่รถถังและกองกำลังภาคพื้นดินลิเบียด้วย ไม่ได้จัดแค่การใช้เขตห้ามบินเท่านั้น

ส่วนที่อังกฤษก็มีความเห็นแตกต่างกัน ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน กล่าวว่า มติบังคับใช้เขตห้ามบินจำกัดเฉพาะการเรียกร้องให้หยุดยิงและปกป้องพลเรือนในลิเบีย โดยไม่ได้ให้อำนาจใช้กำลังทหาร แต่นายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กลับบอกว่า แม้ปฏิบัติการทางทหารมีเป้าหมายเรื่องเขตห้ามบิน แต่อังกฤษก็พร้อมจะปลิดชีพผู้นำลิเบีย ถ้าจำเป็น
ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ บอกว่า เป้าหมายของสหรัฐในการเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารคือ ทำตามมติยูเอ็นเอสซีไม่ได้หวังจะโค่นอำนาจ พ.อ.กัดดาฟี แต่เขาระบุด้วยว่ามีแนวทางในการทำให้ผู้นำลิเบียก้าวลงจากอำนาจด้วยกลไกอื่นๆเช่นการคว่ำบาตรด้านอาวุธและโดดเดี่ยวเขาจากนาชาติ ส่วนนายโรเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ไม่พอใจที่อังกฤษสนับสนุนการสังหาร พ.อ.กัดดาพี โดยบอกว่าจะทำลายความร่วมมือของนานาชาติที่สนับสนุนการใช้เขตห้ามบิน

“กัดดาฟี” พลาด

ความผิดพลาดที่เด่นชัดของ พ.อ.กัดดาฟีก็คือ การใช้กำลังทหารทั้งกองกำลังของเขาเองและทหารฝ่ายรัฐบาลในกรุงตริโปลี สังหารกองกำลังฝ่ายต่อต้าน โดยกล่าวหาว่าคนเหล่านั้นเป็นฝ่ายกบฏที่ต้องปราบปราม ซึ่งประเด็นนี้เองทำให้นานาชาติวิจารณ์ว่าเขาเป็นผู้นำที่ “มือเปื้อนเลือด”

หลังถูกโจมตีวันแรก พ.อ.กัดดาฟีได้ส่งจดมายถึงนายโอบามา ผ่านทางยูเอ็นเอสซี เรียกร้องให้ยุติมาตรการทางทหาร และหยุดสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน โดยพูดแบบเปิดใจว่า เขารักนายโอบามาซึ่งเปรียบเหมือนลูกชายคนหนึ่ง และไม่ต้องการขัดแย้งกับผู้นำสหรัฐ ทั้งยังตั้งคำถามถึงนายโอบามาว่า หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธใช้กำลังเข้ายึดครองเมืองต่างๆ เช่นเดียวกับที่เขาเผชิญอยู่แล้ว จะแก้ปัญหาอย่างไร

ขณะที่นายนาดีน ไซดาน ผู้แทนของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน พ.อ.กัดดาฟีในยุโรป กล่าวว่า ฝ่ายต่อต้านในประเทศต้องการให้ พ.อ.กัดดาฟีลงจากอำนาจและออกไปจากลิเบีย โดยไม่ต้องการให้เขาถูกสังหาร แต่ฝ่ายต่อต้านต้องการอาวุธเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้รับชัยชนะ และหลังจากนั้นต้องการให้ดำเนินคดี พ.อ.กัดดาฟีโดยศาลระหว่าางประเทศหรือศาลนานาชาติต่ออาชญากรรมที่เขาได้ก่อขึ้น

โยนให้นาโต้สานต่อ

ด้านองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) พยายามอย่างหนักที่จะผสานความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างชาติสมาชิกเกี่ยวกับบทบาททางทหารในการโจมตีลิเบีย โดยฝรั่งเศสยืนยันที่จะให้นาโต้เข้ามารับบทบาทเป็นแกนนำ

อังกฤษ อิตาลี และพันธมิตรนาโต้อีกหลายประเทศต้องการให้นาโต้เป็นแกนนำ หลังจากที่สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและทางทะเลต่อลิเบียโดยลำพังเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา

นายอแลง จูเป รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ส่งสัญญาณว่า ต้องการให้นาโต้มีบทบาทสนับสนุนมากกว่าเป็นแกนนำ และมีหลายชาติต้องการให้นาโต้ดึงชาติอาหรับเข้าร่วมด้วย แต่ชาติอาหรับปฏิเสธหากต้องดำเนินการภายใต้ร่มธงนาโต้

ชาติตะวันตกที่ใช้ปฏิบัติการทางทหารกับลิเบียเห็นพ้องเรื่องใช้กองกำลังขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) กับลิเบีย แต่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกทั้งหมด และมีความเห็นต่างกันเรื่องผู้ที่จะเป็นแกนนำปฏิบัติการ

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ เห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ และประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส ว่า นาโต้ควรมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำในการใช้ปฏิบัติการทางทหาร

นาโต้ประกาศจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอาวุธลิเบียและได้สรุปแผนบังคับใช้เขตห้ามบินโดยอาณัติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หากจำเป็น แต่ในการประชุมล่าสุด เมื่อวันอังคาร ฝรั่งเศสและตุรกีคัดค้านอีกครั้ง ทำให้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่จะให้นาโต้เป็นแกนนำ โดยฝรั่งเศสเห็นว่านาโต้ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ มีภาพลักษณ์ไม่ดีนักในโลกอาหรับ ส่วนตุรกีเห็นว่าการโจมตีทางอากาศได้เกินขอบเขตของมติยูเอ็นเอสซีแล้ว ด้านอิตาลี ซึ่งเปิดให้ชาติพันธมิตรใช้ฐานทัพในประเทศได้ ชี้ว่า นาโต้ควรเป็นแกนนำปฏิบัติการหรือไม่ก็ไม่ต้องมีบทบาทเลย

ชาติตะวันตกกำลังหาทางนำทั้งสมาชิกนาโต้และประเทศนอกนาโต้เข้าร่วมปฏิบัติการ ทั้งยังหวังว่าจะมีชาติอาหรับเข้าร่วมเพิ่มขึ้น แม้สมาชิกนาโต้ทั้ง 28 ชาติเห็นพ้องในประกาศใช้เขตห้ามบิน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะตกลงให้ดำเนินการจริง

ขณะนี้มีชาติอาหรับเพียงชาติเดียวคือกาตาร์ที่พร้อมจะสนับสนุน โดยเสนอจะส่งเครื่องบินรบเข้าช่วยในปฏิบัติการเพื่อบังคับใช้เขตห้ามบิน ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสนอจะมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้

อย่างไรก็ตาม คำถามเรื่องความชอบธรรมต่อการโจมตีลิเบียยังคงหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ ตราบใดที่ชาติสมาชิกนาโต้ยังมีความเห็นขัดแย้งกัน เพราะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องเขตห้ามบินไปพร้อมกันด้วย โดยสหรัฐคาดว่าจะขยายเขตห้ามบินให้ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 1,000 กิโลเมตรโดยรอบกรุงตริโปลี

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 23 คอลัมน์ เบื้องหลังโลก โดย คณาภพ ทองมั่ง*

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น