พบมันเทศญี่ปุ่นปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี http://www.dailyworldtoday.com /newsblank.php?news_id=10176 อย. สุ่มตรวจตัวอย่างอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นพบมันเทศปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แต่อยู่ในระดับต่ำที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุภาพ สั่งห้ามนำออกจำหน่ายรอการทำลายทิ้ง คาดอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าอาจตรวจพบในอาหารทะเลนำเข้า เพราะในน้ำทะเลใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์พบการรั่วไหลในปริมาณเข้มข้น ด้านกรมอุตุฯเปิดข้อมูลใหม่น่าตกใจ ระบุพบแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 3 แห่งวันเดียวกับที่เกิดเหตุในพม่า แรงสั่นสะเทือนสูงสุด 4 ริกเตอร์ที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ชี้การสั่นสะเทือนในพม่าทำให้รอยเลื่อนเล็กๆในไทยขยับตัวหลายจุด อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตแต่ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯแจ้งคณะรัฐมนตรีมี 22 จังหวัดอยู่ในรอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าระวัง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สุ่มตรวจตัวอย่างอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. เป็นต้นมา เพื่อหาสารกัมมันตรังสีที่อาจปนเปื้อนมากับอาหารนำเข้า จนถึงวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมาทำการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารไปแล้ว 94 ตัวอย่าง แยกเป็นปลาสด 65 ตัวอย่าง หอย 6 ตัวอย่าง กุ้ง 4 ตัวอย่าง ปลาหมึก 6 ตัวอย่าง สาหร่าย 1 ตัวอย่าง มันเทศ 3 ตัวอย่าง แอปเปิ้ล 1 ตัวอย่าง สตรอว์เบอร์รี่ 4 ตัวอย่าง ลูกพลับแห้ง 1 ตัวอย่าง แป้งสาลี 2 ตัวอย่าง และผักกาดดอง 1 ตัวอย่าง ยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด “จากการสุ่มตรวจพบว่ามันเทศ 1 ตัวอย่างปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี (ไอโอดีน 131) แต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่จะเป็นอันตราย โดยพบอยู่ในระดับ 15.25 เบคเคอเรลต่อ 1 กิโลกรัม ขณะที่ค่ามาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้คือ 100 เบคเคอเรลต่อ 1 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม อย. ได้สั่งระงับการกระจายสินค้าดังกล่าวแล้ว” สั่งระงับกระจายสินค้ารอทำลายทิ้ง นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ตัวอย่างมันเทศที่พบสารกัมมันตรังสีนำเข้ามาจากจังหวัดอิบารากิ บนเกาะฮอนชู ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงที่การทางการญี่ปุ่นได้ประกาศเตือนเอาไว้แล้ว โดยสินค้าล็อตเดียวกันที่นำเข้ามามีน้ำหนักรวม 75 กิโลกรัม หลังตรวจพบได้สั่งระงับการกระจายสินค้าไปแล้ว จากนี้จะเร่งหารือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเพื่อหาวิทำลายทิ้งต่อไป ช่วงที่รอการทำลายจะดูว่าสารไอโอดีน 131 ในตัวอย่างที่ตรวจพบจะลดลงตามธรรมชาติหรือไม่ เพราะตามปรกติแล้วจะต้องลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 8 วัน อย่างไรก็ตามจะต้องทำลายทิ้ง ไม่อนุญาตให้จำหน่ายแม้จะมีปริมาณน้อยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ตาม อีก 2 สัปดาห์อาจตรวจพบในปลา ส่วนกรณีที่มีปริมาณสารกัมมันตรังสีเจือปนในน้ำทะเลปริมาณเข้มข้นที่ญี่ปุ่นจะมีผลต่อการนำเข้าอาหารทะเลหรือไม่นั้น เลขาธิการ อย. กล่าวว่า โดยหลักการแล้วสารกัมมันตรังสีจะกระจายได้ดีมาก แต่การปนเปื้อนส่วนมากจะพบกับสัตว์น้ำที่อยู่ชายฝั่งมากกว่าพวกที่อยู่ในน้ำลึก “อาหารทะเลที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นส่วนมากเป็นปลาซาบะและปลาแมคเคอเรล ซึ่ง อย. มีการสุ่มตรวจอยู่แล้วและยังไม่พบการปนเปื้อน จึงไม่ควรวิตกกังวล หากจะมีการปนเปื้อนมากับปลาน่าจะอีกประมาณ 2 สัปดาห์ข้างหน้าไปจนถึง 1 เดือน” ตรวจพบแผ่นดินไหวในไทย 3 จุด ด้านเหตุแผ่นดินไหวในประเทศพม่าที่มีแรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมามีข้อมูลใหม่ที่ทำให้คนไทยต้องตกใจ เมื่อกลุ่มงานแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ตรวจพบว่าหลังแผ่นดินไหวในพม่าแล้วเกิดแผ่นไหวตามมาอีกหลายครั้ง ซึ่งคนไทยเชื่อว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากพม่า แต่ความจริงแล้วเป็นการเกิดแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 3 จุดที่ตรวจพบในขณะนี้ แรงสุด 4 ริกเตอร์ที่จังหวัดน่าน ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของนายอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้ากลุ่มงานแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ในฐานะรองโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ระบุว่าขณะนี้พบศูนย์กลางแผ่นดินไหวในไทยอย่างน้อย 3 จุดที่เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวในพม่า จุดแรกเกิดขึ้นในเวลา 21.17 น. วันที่ 24 มี.ค. มีแรงสั่นสะเทือนขนาด 4 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เกิดจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนปัว จุดที่ 2 เกิดเวลา 22.09 น. ขนาด 3 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เกิดจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน และจุดที่ 3 เวลา 22.15 น. ขนาด 3.4 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางที่อำเภอแม่สาย เกิดจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวในพม่าแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง จึงทำให้เข้าใจผิดในตอนแรกที่คิดว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากพม่า แรงสั่นจากพม่าเขย่ารอยเลื่อนในไทย “ขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังอย่างละเอียด เพราะเชื่อว่าหลังเกิดแผ่นดินไหวในพม่าแล้วจะมีผลทำให้รอยเลื่อนเล็กๆในประเทศไทยเคลื่อนตัวและเป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหวได้อีกหลายจุด” นายอดิศรกล่าวอีกว่า การเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบข้อเท็จจริงจะได้ไม่ประมาท แต่ไม่ควรตื่นตระหนก ควรเปิดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดและการป้องกันทรัพย์สินจากเหตุแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในวันข้างหน้า “มาร์ค” สั่งหาทางป้องกันแผ่นดินไหว ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ เช่น กระทรวงมหาดไทย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กรุงเทพมหานคร นักวิชาการ ในสัปดาห์หน้า เพื่อหาแนวทางการรองรับสถานการณ์หากมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น “สิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องการคือเรื่องการแจ้งเตือนที่ต้องทำได้รวดเร็วและครบถ้วน นอกจากนี้ยังสั่งการให้ไปตรวจสอบอาคารเก่าและอาคารสร้างใหม่ เพื่อหาแนวทางป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นร่วมกันเจ้าของอาคาร” 13 รอยเลื่อนพาดผ่าน 22 จังหวัด นายปณิธานกล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงพื้นที่รอยเลื่อนที่ยังมีพลังในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 13 รอยเลื่อน คลุมพื้นที่ 22 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังการเปิดแผ่นดินไหว สำหรับพื้นที่ต้องเฝ้าระวังประกอบด้วย 1.เชียงใหม่ 12 อำเภอ 2.เชียงราย 11 อำเภอ 3.แพร่ 7 อำเภอ 4.แม่ฮ่องสอน 5 อำเภอ 5.กำแพงเพชร 3 อำเภอ 6.ตาก 7 อำเภอ 8.น่าน 6 อำเภอ 9.พะเยา 1 อำเภอ 10.พิษณุโลก 2 อำเภอ 11.ลำปาง 5 อำเภอ 12.ลำพูน 3 อำเภอ 13.อุตรดิตถ์ 4 อำเภอ 14.กระบี่ 1 อำเภอ 15.ชุมพร 4 อำเภอ 15.พังงา 5 อำเภอ 16.ระนอง 5 อำเภอ 17.สุราษฎร์ธานี 9 อำเภอ 18.กาญจนบุรี 7 อำเภอ 19.ประจวบคีรีขันธ์ 4 อำเภอ 20.สุพรรณบุรี 1 อำเภอ 21.นครพนม 3 อำเภอ 22.หนองคาย 2 อำเภอ รวม 308 ตำบล 1,406 หมู่บ้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยที่จะยกเรื่องภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งศูนย์รวมในการให้คำแนะนำและช่วยเหลือประชาชน เพราะปัญหาภัยพิบัติไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้า |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น