วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554


‘คอร์รัปชั่น’โรคระบาดสายพันธ์ุเก่า เสี่ยงแต่รวย!

กระแสประชาชนต้านนักการเมืองคอรัปชั่นกำลังฮิต!
ฉบับนี้จึงขอกล่าวถึง “นักการเมืองคอรัปชั่น” แต่จะไม่มีการพาดพิงถึงนักการเมืองไทย เพราะมั่นใจเหลือเกินว่าทุกคนคงเบื่อ และรับรู้เหมือนกันว่า...
นักการเมืองไทยที่ใส่ใจคอรัปชั่นบ้านเมือง...มีจำนวนมากถึงมากที่สุด
การทุจริตคอรัปชั่นกลายเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารประเทศ โดยเฉพาะโครงการมหาศาลหลายล้านบาท
ยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ยิ่งมีการคอรัปชั่นกันรุนแรงจนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศและแก้ไขความยากจนของประชากร
แถบเอเชียต้องเริ่มจากประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดก็ยังมีคดีทุจริตคอรัปชั่นให้เราได้ยินเป็นครั้งคราว
ส่วน เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ประเทศกลุ่มอาเซียน เรื่อยมาทางเอเชียตะวันตก จนถึงยักษ์ใหญ่เช่นอินเดีย ต่างก็มีปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นกันทั้งสิ้น
การทุจริตคอรัปชั่นมักเกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับรัฐมนตรี ในบรรดารัฐมนตรีก็จะมีทั้งน้ำดี- น้ำเน่าปะปนกัน ความต่างอยู่ที่การบริหารงานของผู้นำที่เรียกว่า “นายกรัฐมนตรี” จะเอาจริงเอาจัง หรือ “ดีแต่ปาก”
ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ประเทศอินเดียหลายฉบับ “พาดหัวข่าวหน้า 1” เกี่ยวกับอดีตรัฐมนตรีกระทรวงโทรคมนาคม หรือ ไอซีที.อินเดีย กรณีเข้าไปทุจริตคอรัปชั่นการให้อนุมัติสัมปทานบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมเมื่อสามปีที่แล้ว
วันนี้นักการเมืองบางคนถูกจับไปแล้วเช่นเดียวกับเลขานุการที่ทำหน้าที่หาเงินให้นาย
(เหตุการณ์คล้ายเมืองไทย แต่ไทยเองทำลืม ส่วนอินเดียนำมาตีความหาคนผิด)
คดีดังกล่าวมีเทปลับเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีคนแอบบันทึกเสียงสนทนาระหว่างผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็น “ล็อบบี้ยิสต์” กับตัวรัฐมนตรีแล้วเอามาเปิดเผย
ทำให้สังคมได้รู้ว่า...ทั้งสองคนมีการพูดจาต่อรองในเรื่องผลประโยชน์กันอย่างไร มีวิธีการยอกย้อนซ่อนเงื่อนในการอนุมัติการให้บริการโทรศัพท์มือถือให้กับผู้ให้บริการรายใหม่อย่างไร และให้เฉพาะรายที่มีการวิ่งเต้นเท่านั้น
ส่วนคนอื่นที่ยื่นคำร้อง...แม้มีเงื่อนไขตรงตามสัญญา แต่ก็ถูกตีตกไปโดยอ้างว่าขาดคุณสมบัติในเรื่องนั้นเรื่องนี้
ธุรกิจโทรคมนาคมในยุคสื่อสารดิจิตอลถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์...หากใครโกงได้รับรองว่ารวยไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าพลาดก็ต้องนอนคุกยาว...อย่างไรก็ตามนักการเมืองจอมโกงทั่วโมงก็มองว่า...เป็นสิ่งคุ้มค่า และต้องกล้าที่จะยอมเสี่ยง
เพราะถ้าไม่พลาดก็จะสบายตั้งแต่ตัวเองยันไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน
ความคุ้มบนความเสี่ยงจึงกลายเป็นพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่นที่ระบาดปราบให้ตายก็ไม่หมด เพราะผลประโยชน์กองอยู่เต็มหน้าตัก
โครงการสำคัญของชาติที่เกี่ยวเนื่องกับการสื่อสารต้องย่ำอยู่กับที่ไม่คืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็นก็เพราะผู้มีอำนาจขัดผลประโยชน์กันเอง
นายกรัฐมนตรี “มานโมฮัน ซิงห์” ของอินเดีย เคยประกาศนโยบายปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเอาจริงเอาจัง
แต่ผลปรากฎว่า...นายกรัฐมนตรีซิงห์ ได้ออกมาปกป้องรัฐมนตรีโทรคมนาคมว่า ยังไม่มีอะไรพิสูจน์ว่ากระทำผิด
ซึ่งประโยคหนึ่งที่ผู้นำนิยมใช้ปกป้องคนของตัวเอง นั่นก็คือ “รัฐมนตรียังไม่ได้กระทำผิดแต่อย่างใด”
อย่างไรก็ตาม สื่ออินเดียได้โต้กลับนายกฯซิงห์ว่า...หากจับไม่ได้ครั้งนี้คงสวาปามกันอีกเยอะ เพราะแผนการที่เตรียมคอรัปชั่นบังเอิญมีคนมาขวางคอไม่ให้กินได้สะดวกหรือกินไม่ได้
แต่ไม่ได้หมายความว่า “ไม่มีความผิด” หรือต้องรอให้โกงกินจนโครงการสะดุดก่อนใช่หรือไม่ที่เรียกว่ามีความผิด
การปกป้องของนายกฯซิงห์ ทำให้รัฐมนตรีคอรัปชั่นเอาใจนายไม่โดนไล่ออก แต่โดนกระแสสังคมกดดันจนต้องลาออกจากตำแหน่งเอง
หลังจากนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษของอินเดียได้นำเรื่องนี้มาสอบสวน สรุปว่าเจอข้อหาทุจริตเพียบ! ตั้งแต่รัฐมนตรีไล่ไปจนถึงลูกน้องระดับล่าง
แถมโยงใยไปถึงข้าราชการผู้ใหญ่ของอินเดียที่อยู่ในคณะกรรมการโอลิมปิกในข้อหาทุจริตคอรัปชั่นเกี่ยวกับการจัดแข่งกีฬาเครือจักรภพ
แม้แต่วงการกีฬาก็ยังมีการทุจริตคอรัปชั่น เพียงแต่อินเดียยังไม่มีข่าวเรื่องอดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวทุจริตคอรัปชั่นเหมือนกับเมืองไทยแต่ต่อไปอาจไม่แน่
ข้ามมาที่ประเทศจีน ประเทศที่มีประชากรเยอะที่สุด ประเทศที่ถูกจับตามองถึงการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษ!
ทางการจีนยอมรับว่า...การทุจริตคอรัปชั่นในจีนยังเป็นปัญหาร้ายแรงที่รัฐบาลต้องแก้ไข
จากรายงานของ ป.ป.ช.จีน ยอมรับว่า...
ระหว่างปี 2546 – 2552 มีการสืบสวนสอบสวนคดีคอรัปชั่นไปแล้วทั้งหมดกว่า 240,000 คดี จนทางการต้องออกกฎว่า...ข้าราชการและเจ้าหน้าที่พรรรคอมมิวนิสต์ต้องรายงานรายได้และการลงทุน
การคอรัปชั่นในจีนมีตั้งแต่ระดับเล็ก ๆ จนกระทั่งถึงรายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมหาศาล แม้ว่าทางการจะรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง แต่ข้าราชการจีน พ่อค้า ก็ยังพร้อมจะเสี่ยงกับการให้-รับสินบน
การทุจริตโครงการต่างๆ จากการจัดลำดับประเทศที่มีการทุจริตคอรัปชั่นรวม 180 ประเทศทืจีนอยู่ในลำดับกลาง คือ อันดับที่ 79 จากประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดเรียงลงมา
แต่ถ้านับจากอันดับ 180 สำหรับประเทศที่คอรัปชั่นมากที่สุด จีนอยู่ในลำดับที่ 101 ถือว่า การทุจริตในจีนมีน้อยกว่าประเทศอื่น
อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนมีความตั้งใจจริงในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นสูง แม้จะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์
ว่ากันว่า...ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เริ่มใช้เศรษฐกิจการตลาดของตะวันตก โดยเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเป็นระบบทุนนิยมจะมีการทุจริตคอรัปชั่นมาก เพราะค่าตอบแทนจากเศรษฐกิจการตลาดแบบทุนนิยมมันหอมหวานกว่าระบบคอมมิวนิสต์เยอะ
พอมาเจอค่าตอบแทนกองโต จึงยอมเสี่ยงคุก เสี่ยงชีวิตฉกฉวยประโยชน์กันยกใหญ่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไทยดูอ่อนด้อยกว่าประเทศอื่นคือ ประเทศที่ยังถือว่าตนเองมีระบบการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ อาทิ จีน เวียดนาม
เพราะเขามีความตั้งใจจริงในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ไม่ว่าคนที่โกงชาติจะยศใหญ่คับฟ้า หรือมีหน้าที่ราชการใหญ่โตเพียงใด ก็ถูกทางการจับกุมฟ้องร้องและศาลตัดสินลงโทษตามกฏทุกรายไป
ไม่มีการลูบหน้าปะจมูก...ไม่เอาผิด...ไม่มองข้าม...อย่างที่ผู้นำไทยชอบกระทำ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น