วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

วิกฤตการเมืองกับวิกฤตศาล?
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10159


นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวในงานสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “เลือกตั้งอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย” ตอนหนึ่งว่า เราเคยพูดกันบ่อยว่าตุลาการภิวัฒน์ ศาลเป็นองค์กรที่มั่นคง ต้องไม่แตะต้องการเมือง แต่ขณะนี้เรากำลังดึงศาลเข้ามาสู่กระบวนการการเมือง ซึ่งการเมืองเป็นสิ่งต้องห้าม ทำให้ถูกการเมืองเล่นงาน เหมือนเช่นตัว กกต. ที่ถูกผลกระทบจากการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม


ดังนั้น ส่วนตัวเห็นว่าเราควรแยกศาลออกมาจากการเมือง โดยการตั้งศาลการเมืองขึ้นมาพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยเฉพาะ ซึ่งอยากให้มาจากนักการเมือง รวมถึงประชาชนด้วย ให้เลือกเข้ามาเพื่อมาตัดสินกันเอง น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องมากกว่า ดังนั้น ในอนาคตควรดึงศาลยุติธรรมออกมาจากการเมืองดีกว่า ไม่ควรให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น คดียุบพรรคไม่ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว

นางสดศรียอมรับว่าไม่สบายใจเมื่อเรื่องยุบพรรคการเมืองเข้ามาสู่การพิจารณาของ กกต. แม้จะอยู่ในชั้นของนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ถ้านายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นให้ยุบพรรคก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่ กกต. ว่าเห็นชอบให้ยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งการยุบพรรคไม่ใช่เรื่องสนุก ทำให้หลายพรรคที่ตั้งมานานถูกยุบเพราะสะดุดเพียงแค่รายละเอียดกฎหมายเล็กๆน้อยๆเท่านั้น

“เชื่อว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น แม้จะชนะไม่ได้ในการเลือกตั้ง แต่ชนะด้วยการยุบพรรค จึงคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้เห็นวงจรนี้กลับมาอีกครั้ง ดิฉันไม่ใช่หมอดู แต่เรื่องแบบนี้จะกลับมา ซึ่งต้องถามว่าเป็นเรื่องที่ยุติธรรมไหมกับพรรคที่ตั้งมานานแต่กลับถูกสกัดโดยการยุบพรรค แทนที่จะใช้วิธีเลือกตั้งเป็นเครื่องชี้วัดประชาธิปไตย แต่ใช้กฎหมายเพื่อสกัดกั้นการเติบโตของพรรคการเมือง ถ้ายังใช้วิธีการยุบพรรคการเมืองเป็นปัจจัยหลักของการแพ้ชนะในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเพื่อให้ได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง”

ความเห็นของนางสดศรีไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีหลายฝ่ายพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว เพราะตั้งแต่มีการดึงตุลาการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ศาลยุติธรรมก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองไปโดยปริยาย
ยิ่งในสถานการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการยุบพรรคไทยรักไทยและตามมาด้วยพรรคอื่นๆอีกหลายพรรค คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นหนึ่งในแนวความคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ต้องการควบคุมพรรคการเมืองไม่ให้เข้มแข็งจนมีอำนาจมากเกินไป

แม้แต่ปัจจุบันก็ยังมีแนวความคิดที่จะให้ควบคุมระบบการเมืองไทยในลักษณะการเมืองปิดไปอีกระยะหนึ่งเพื่อปฏิรูปการเมืองแบบไทยๆ อย่างที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาเรียกร้องล่าสุด

ความคิดนี้จะผิดหรือถูก จะเป็นการหันหลังกลับไปสู่การใช้อำนาจเผด็จการแบบไทยๆอีกครั้งหรือไม่ แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันคือพรรคการเมืองและนักการเมืองไทยคือหนึ่งในปัญหาบ้านเมือง

แต่กองทัพและกลุ่มทุนหรือกลุ่มชนชั้นสูงเองก็เป็นปัญหาในฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนานหลายทศวรรษเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในทางการเมืองและความเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่ว่าจะออกมาในรูปใดหากไม่มีความยุติธรรมอย่างเสมอภาคแล้วบ้านเมืองก็จะยังวนเวียนอยู่กับวิกฤตเดิมๆ แต่การเปลี่ยนแปลงจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ไม่ใช่แค่ใครก็ได้ที่กุมอำนาจกองทัพแล้วจะมาปฏิวัติรัฐประหารเหมือนในอดีต

ความแตกแยกสุดขั้วของประชาชนจึงไม่ใช่เรื่องของคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง แต่เป็นเพราะการเสี้ยมและพยายามปลุกระดมมอมเมาของกลุ่มผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กลุ่มทุน กลุ่มชนชั้นสูง หรือนักการเมือง ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขของวิกฤตชาติทั้งสิ้น

แม้ประเทศไทยจะปิดประเทศก็ไม่สามารถใช้ฝ่ามือปิดสังคมโลกได้ เพราะประเทศไทยไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวในโลก การกอบกู้ชาติจึงต้องหยุดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดวิกฤต และต้องปฏิรูปการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆภายใต้กองทัพและกลุ่มผู้มีอำนาจ
ที่สำคัญจะต้องทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ 3 อำนาจหลักคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมต้องกลับสู่ที่ตั้งตามปรกติ ไม่ใช่ถูกนำไปโยงใยหรือเป็นเครื่องมือต่างๆทางการเมือง ไม่ว่าจะในระบบและนอกระบบ การบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐานหรือหลายมาตรฐาน

โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีบทบัญญัติให้นำคดีทางการเมืองมาผ่านการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ผลคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับคดีทางการเมืองถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าให้คุณหรือให้โทษแก่กลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ หรือถูกตั้งข้อสงสัยว่าเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐานหรือไม่

โดยเฉพาะอำนาจขององค์กรอิสระที่มีเหนือ 3 อำนาจหลักตามรัฐธรรมนูญเสียอีก

ทุกฝ่ายรู้ดีถึงจุดอ่อนและการสร้างกลไกของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เอาองค์กรอิสระมายึดโยงกับอำนาจตุลาการ เพื่อลดทอนอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร ทำให้องค์กรของศาลต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งที่ทุกคดีควรถูกนำไปพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมปรกติ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคการเมือง การตัดสิทธิทางการเมือง การไม่รับรองผลการเลือกตั้ง การให้ใบเหลือง ใบแดง ฯลฯ

องค์กรศาลยุติธรรมซึ่งเดิมอยู่ห่างจากการเมืองและไม่เคยทำหน้าที่ในคดีการเมืองมาก่อนกลับต้องมาทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา จึงทำให้เกิดความคลางแคลงใจ และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ศาลยุติธรรมในลักษณะจาบจ้วงและสงสัยในความเป็นกลาง ความโปร่งใส และความสุจริตในการทำหน้าที่

วิกฤตการเมืองในขณะนี้จึงบ่อนทำลายสถานะตลอดจนความเชื่อถือและศรัทธาของศาลยุติธรรมและอำนาจตุลาการอย่างรุนแรงที่สุด แม้จะมีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองขึ้นมาพิจารณาคดีทางการเมืองและคดีที่เกี่ยวพันกับคดีทางปกครองก็ตาม

ความเห็นของนางสดศรีที่ต้องการให้มีการตั้งศาลการเมืองจึงเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรม ซึ่งเคยมีการทักท้วงเพื่อขอมิให้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนำคดีการเมืองเข้าสู่ศาลยุติธรรม แต่ไม่ได้ผล เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังใช้กระบวนการศาลยุติธรรมในการทำหน้าที่พิจารณาคดีทางการเมืองทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาอย่างกว้างขวาง จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันศาลยุติธรรมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย ไม่เกรงอกเกรงใจหรือมีความกลัวเช่นในอดีต
หากต้องการกอบกู้วิกฤตศรัทธาในศาลยุติธรรมก็ต้องทำพร้อมๆกับการแก้ปัญหาวิกฤตการเมือง ต้องลดทอนอำนาจหรือยกเลิกองค์กรอิสระให้หมด เพื่อให้ 3 อำนาจอธิปไตยปรกติทำหน้าที่ตามกลไกในการถ่วงดุลและตรวจสอบซึ่งกันและกันเหมือนเดิม ประชาชนและทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ไม่พิกลพิการ คือต้องไม่ใช้ “อัตตาธิปไตย” มากำหนดอย่างในขณะนี้

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 14 คอลัมน์ สามแยกสามแพร่ง โดย คุณศรี สามแยก*

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น