วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร?
http://www.pchannel.org/?name=shalad&file=readknowledge&id=21
โดย....ฉลาด ยามา  ทนายความ



           ประชาชนจำนวนมากของประเทศไทย มีความเชื่อว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถึงปัจจุบันความเชื่อของประชาชนก็ยังคงเชื่อเช่นเดิม อาจจะมีการเปลี่ยนความเชื่อไปบ้าง แต่ก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก ตลอดเวลาถ้านับถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 79 ปีเต็มที่ความเชื่อของประชาชนก็ยังมีความเชื่อว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

        ความเชื่อดังกล่าวที่ประชาชนเชื่อว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็เพราะในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดรับรองไว้ทุกฉบับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนจึงทำให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย


        แต่ในความเป็นจริงถ้าเราจะนำมาวิเคราะห์ตามหลักรัฐศาสตร์ว่าด้วยหลักการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยแล้ว จะพบว่าประชาชนที่เชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองนั้น เป็นความเข้าใจผิดหรือที่ฝ่ายนิติศาสตร์ใช้คำว่า     ความสำคัญผิดในข้อเท็จจริง


         การเข้าใจผิดหรือความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงก็คือ เข้าใจว่าตนเองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรือเป็นเจ้าของระบอบการปกครอง แต่แท้จริงแล้วไม่เป็นความจริงตามที่เข้าใจเลย เพราะข้อเท็จจริงระบอบการปกครองประชาธิปไตยมีเจ้าของมานานแล้ว และยังไม่มีใครเข้าไปเปลี่ยนเจ้าของระบอบนี้ได้มาจนถึงปัจจุบัน


         แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งมีส.ส. มีสภานิติบัญญัติ มีรัฐบาลหรือที่เรียกว่าฝ่ายบริหารและอำนาจตุลาการ ทั้ง 3 อำนาจ ก็ไม่ได้เป็นของประชาชนโดยแท้ แต่เป็นเจ้าของระบอบซึ่งประชาชนไม่สามารถแทรกแซงได้


          ข้อสังเกตที่เราเห็นได้ก็คือ การเลือกตั้งถ้าได้รัฐบาลที่ไม่กระทำตามคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติการตามคำสั่งก็ไม่สามารถบริหารประเทศตามที่ประชาชนต้องการได้ ถ้าไม่ปฏิบัติไปตามเจ้าของระบอบต้องการ(หรือไม่ใช่ของเจ้าของระบอบ) รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาจากประชาชนด้วยจำนวนคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นก็ไม่สามารถที่จะบริหารได้ตามนโยบายที่เสนอไว้ต่อประชาชน ก็จะถูกทำลายล้างรัฐบาลของประชาชนที่มาโดยชอบธรรมให้บริหารประเทศไปไม่ได้ โดยจะใช้วิธีการสร้างความปั่นป่วนให้ประชาชนลุกขึ้นขับไล่รัฐบาลโดยหาวิธีการใส่ร้ายป้ายสีอันเป็นความเท็จจนกระทั่งสุดท้ายก็จะใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ ยกเลิกรัฐธรรมนูญของประชาชนและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ตามความต้องการของเจ้าของระบอบ และไปบีบบังคับเอา ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมาเป็นของพรรคเสียงข้างมากเอาเข้ามาร่วมกับพรรคเสียงข้างน้อยจัดตั้งรัฐบาลเป็นของพรรคพวกของเจ้าของระบอบทำการบริหารประเทศเช่นปัจจุบัน การทำลายอำนาจของประชาชนเป็นที่น่ารังเกียจน่าชังยิ่งนักถามว่า ด้านไหม?  ด้านสุดๆๆ หาอะไรเปรียบไม่ได้เลวครับเลวจริงๆ


          ทั้งหมดเป็นการสร้างความเสียหายทางการเมืองอย่างรุนแรง เช่น ในปัจจุบันนักการเมืองได้ทำการคอรัปชั่นกันโดยไม่อับอาย ซึ่งได้รับการคุ้มครองจากเจ้าของระบอบ ผิดก็จะเป็นถูก กฎหมายไม่สามารถนำมาบังคับใช้กับคนพวกนี้ได้ จึงทำให้นักการเมืองถูกซื้อขายกันคือ ย้ายพรรคย้ายขั้วกันอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้านักการเมืองคนใดไม่ไปร่วมกับเจ้าของระบอบก็จะถูกกลั่นแกล้งคนแล้วคนเล่ามาโดยตลอด ทำให้เกิดระบบสองมาตรฐานหรือไร้มาตรฐาน


          ในทางเศรษฐกิจจะถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ เช่น การยึดสนามบิน ยึดทำเนียบของรัฐบาล ยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ คิดค่าความเสียหายประเมินค่ามิได้ แต่คนเหล่านี้ก็ไม่ต้องรับโทษแม้ในฐานความผิดมีโทษถึงประหารชีวิต คนเหล่านี้ถึงวันนี้ก็ยังไม่ถูกดำเนินคดีแม้แต่คนเดียว เหตุเพราะพวกนี้เจ้าของระบอบให้การคุ้มครองไม่ให้ถูกดำเนินคดี แต่ถ้าเป็นพวกประชาชนซึ่งไม่อยู่หรือไม่เป็นพรรคพวกของเจ้าของระบอบประชาชนก็จะถูกดำเนินคดีทุกฐานความผิดและที่ร้ายที่สุดแม้มิได้กระทำความผิดในฐานความผิดอะไรเลย เจ้าของระบอบก็จะจัดหาความผิดให้และจับกุมคุมขัง โดยไม่มีความละอายหลงเหลือในจิตใจเจ้าของระบอบแม้แต่นิดเดียวหรือเรื่องล่าสุดคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ก็จะตัดสินไม่ให้ยุบพรรค เพราะเจ้าของระบอบสั่งไม่ให้ยุบ ความเสียหายซึ่งเป็นเงินภาษีที่ประชาชนได้จ่ายเพื่อนำมาพัฒนาประเทศจะเป็นเงินมากหรือน้อยเจ้าของระบอบเขาไม่สนใจเพียงแต่ไม่ต้องการให้ยุบพรรคของเขาเท่านั้น แม้ประชาชนทั่วประเทศจะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีการกระทำความผิดจริง แต่ก็ไม่ถูกยุบเหตุเพราะเจ้าของระบอบสั่งห้ามยุบตามที่กล่าวแล้ว


          ส่วนด้านความยุติธรรมไม่เหลืออยู่เลยคงเหลืออยู่แต่ยุติธงตามที่เจ้าของระบอบตั้งไว้เท่านั้น เจ้าของระบอบควบคุมกลไกหน่วยงานของรัฐโดยเจ้าของระบอบสามารถสั่งการกลไกต่างๆได้ ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องรับไปปฏิบัติแม้ว่าการปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าของระบอบจะผิดจะถูกไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญคือต้องเชื่อฟังและกระทำตามคำสั่งโดยเคร่งครัด ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดผลร้ายกับเจ้าหน้าที่ที่ขัดขืนนั้นอย่างรุนแรงหรือถึงกับต้องสูญเสียชีวิต ครอบครัวต้องเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างกันทั่วทั้งประเทศแล้ว


          แม้ว่าหน่วยงานที่ว่ามีอำนาจสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ เช่น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ก็ไม่อาจจะทัดทานเจ้าของระบอบได้ หลายคนเข้าใจว่าอำนาจบริหารเป็นอำนาจที่จะต้องบริหารประเทศได้โดยเด็ดขาดตามนโยบายที่เสนอไว้ต่อประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนทั้งประเทศ การหาเป็นไปตามความเข้าใจหรือความเชื่อของประชาชนไม่ รัฐบาลเป็นเพียงทำตามคำสั่งของเจ้าของระบอบที่สั่งการลงมาให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเท่านั้น มิฉะนั้นก็ไม่อาจจะอยู่ร่วมสังฆกรรมกับเจ้าของระบอบได้


          แล้วใครล่ะเป็นเจ้าของระบอบ คำตอบก็คือ “เผด็จการ” ซึ่งซ่อนรูปอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของระบอบ ประชาชนต้องช่วยกันเอาเจ้าของระบอบออกไปและนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในการบริหารบ้านเมืองตามหลักการปกครองของฝ่ายรัฐศาสตร์เท่านั้นประชาชนจึงจะมีเสรีภาพ ความเสมอภาค และหลักกฎหมาย เป็นผู้กำหนดการบริหารประเทศให้การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเดินทางไปทิศไหน อย่างไร ก็ขึ้นอยู่ที่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนต้องการประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างต่อเนื่องตลอดไป ประเทศของเราก็จะเป็นประเทศที่พัฒนาเทียมบ่าเทียมไหล่กับนานาอารยะประเทศตลอดไปถ้าจับเจ้าของระบอบโยนออกไปจากระบอบประชาธิปไตยได้ ปัญหาทั้งหมดก็จะสิ้นสุดลงทันที


          จากการเอาเจ้าของระบอบออกไปแล้วเราจะต้องยึดหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นหลักโดยละเว้นไม่ยึดเอาตัวบุคคลเป็นหลัก หลักการที่จะต้องเอามาปกครองประเทศตามหลักรัฐศาสตร์ คือ


 1. อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน
 2. เสรีภาพบริบูรณ์ของประชาชน
 3. ความเสมอภาค
 4. หลักการกฎหมาย
 5. รัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน


          ทั้ง 5 ข้อนี้เท่านั้นจึงจะทำให้เกิดการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของโดยไม่มีใครหน้าไหนเข้ามาเป็นเจ้าของระบอบหลักการปกครองก็จะเป็นระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบการปกครองของประชาชนอย่างแท้จริงและถาวรตลอดไป





     “ฉลาด  ยามา”
       ทนายความ
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น