จากนั้นเวลา 10.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วิดีโอลิงค์ โดยกล่าวว่า ขอบคุณทุกคนที่คิดถึง โดยเฉพาะประชาชนที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้ตน ทั้งนี้ ขอบคุณกรรมการทั้งหลายที่ช่วยคิดนโยบาย ที่ต่างส่งเนื้อหามาให้ จึงรวบรวมสิ่งเหล่านี้มาเพื่อประทับตรานายห้างดูไบ
เปิด!นโยบายเพื่อไทยปริญญาตรี1.5หมื่นบาท-ค่าแรง300บาท
ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็ตัดสินใจไม่ชูสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” เพื่อชูภาพลักษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาใช้ในการคิกออฟ นโยบายหาเสียงของพรรค ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันนี้ (23 เม.ย.) ทั้งยังค่อนข้างชัดเจนว่าสโลแกนที่จะนำมาใช้ในการคิกออฟนโยบาย “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” นั้น เป็นเพียงการปล่อยออกมาเรียกน้ำย่อยให้คนสนใจในนโยบายที่พรรคเพื่อไทยจะประกาศเท่านั้น
แต่สโลแกนจริงๆ ที่พรรคเพื่อไทยจะนำมาชูในการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อเรียกคะแนนนิยม คือ “ขอคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคนอีกครั้ง”
นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพือ่ไทย และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยระบุว่า สโลแกน“ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” นั้น ความจริงเป็นเพียงลูกเล่นทางการเมือง ที่พูดไปแล้วทำให้เกิดความฮือฮา และคนจำได้ง่ายเท่านั้น แต่สโลแกนของพรรคที่จะนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง จะเป็นเรื่องของการขอโอกาสประชาชนให้เลือกพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ ภายใต้แนวคิด ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ขยายโอกาส เพื่อฟื้นฟูประเทศอย่างเร่งด่วน
“หลักคิดหลักๆ ของนโยบายพรรค ที่เราจะประกาศในวันนี้ (23 เม.ย.) คือ การเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งระยะเร่งด่วน การฟื้นฟูประเทศในระยะยาว และการสร้างความเท่าเทียมกันให้แก่คนในสังคม โดยจะมีการวางเป้าหมายในอนาคตให้กับประเทศอย่างชัดเจน สโลแกนที่เราจะใช้ในการหาเสียงครั้งนี้ คือ ขอคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคนอีกครั้ง” นายคณวัฒน์ ระบุ
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รายนี้ เผยด้วยว่า การจัดงานคิกออฟนโยบายพรรควันนี้ จะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 09.00-10.00 น. จากนั้น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพิ่อไทย จะกล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมประกาศว่า นโยบายต่างๆ เมื่อหัวหน้าพรรคพูดจบ พิธีกรจะเชิญให้ พ.ต.ท.ทักษิณ วีดิโอลิงค์เข้ามา “วิพากษ์นโยบาย” เพื่อให้ความเห็นว่า นโยบายที่ออกมาสามารถแก้ปัญหาของประชาชนอย่างไร และมีเรื่องใดบ้างที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม
ส่วนนโยบายพรรคที่จะประกาศออกมาครั้งนี้ จะมี 6-7 ประเด็นหลัก ซึ่งส่วนแรกจะเกี่ยวข้องกับนโยบายที่ทำมาตั้งแต่ปี2544-2549 ประสบความสำเร็จอย่างไร และก้าวต่อไปจะมีการสานต่อนโยบายที่เหล่านี้อย่างไร ส่วนที่ 2 คือ การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า เรื่องค่าครองชีพ ปัญหาราคาสินค้าแพง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ส่วนที่ 3 เป็นเรื่องของการลงทุนระยะยาวในโครงการเมกะโปรเจค การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ประเทศ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบันที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลักไม่พอเพียงกับการแก้ไขปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้
ส่วนที่ 4 จะเป็นนโยบายสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับภาคการเกษตร โดยเฉพาะการลงทุนโครงการเมกะโปรเจคแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างบูรณาการ การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการแลนด์บริดจ์ การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก
ส่วนที่ 5 คือ นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยการเร่งผลักดันการลงทุนโครงการบรอดแบนด์ เน็ตเวิร์ค อย่างจริงจัง ไม่เฉพาะโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จีเท่านั้น แต่จะมีเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ผ่านเครือข่ายไอซีทีอย่างเต็มที่
ส่วนที่ 6 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจน มีเป้าหมาย “ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับคนชั้นกลาง” ทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และความยากจน แบบบูรณาการในหลายด้าน โดยเฉพาะ การยกระดับชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการแก้ไขปัญหา เกษตรกรที่จะเป็นเรื่องใหม่เอี่ยม และจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นโรงสี พ่อค้า ผู้ส่งออก และชาวนา
ส่วนที่ 7 สุดท้ายคือ นโยบายด้านการเมือง ในเรื่องที่เกี่ยวกับจุดยืนของพรรคที่ไม่ขัดแย้งกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งตรงนี้จะไม่พูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม เพราะกระบวนการที่พรรคจะดำเนินการทั้งหมด คือ ให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และประชาชนทุกคนจะต้องได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน
แหล่งข่าวจากเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจของพรรค ที่จะใช้ในการหาเสียงครั้งนี้ มีเป้าหมายผลักดันให้เศรษฐกิจจริงขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 5% เพราะเห็นว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวไม่เกิน 4% ในปัจจุบัน ไม่มีความสามารถวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ได้
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% เพื่อให้ประเทศมีความสามารถเพียงพอในการชำระหนี้ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอนาคต ด้วยการผลักดันให้มีการลงทุนเมกะโปรเจคในช่วง5 ปีข้างหน้า วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1ล้านล้านบาท
สำหรับโครงการลงทุนสำคัญๆ ประกอบด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรทั่วประเทศ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงใน3 เส้นทางหลัก คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ-หนองคาย และ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ส่วนเส้นทางย่อยคือ กรุงเทพฯ-หัวหิน และ กรุงเทพฯ-ระยอง
โครงการแลนด์บริดจ์ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล เพื่อขนถ่ายสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันและปิโตรเคมีจากฟากตะวันออกกลางไปยังทวีปยุโรปแทนการใช้ท่าเรือของสิงคโปร์ วงเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท
โครงการสร้างที่อยู่อาศัยให้ชาวต่างชาติ ในจังหวัดภาคตะวันออก โครงการ “บ้านผู้เฒ่า” ที่มี บุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลคอยดูแลผู้สูงอายุชาวต่างชาติ
ส่วนนโยบายเพิ่มรายได้ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีไม่ต่ำกว่า15,000 บาท แลกกับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 10% จากปัจจุบันที่จัดเก็บในอัตรา 30% เหลือ 20%
การลดอัตราภาษีนิติบุคคลในส่วนนี้ แม้จะทำให้รายได้จากภาษีนิติบุคคลของรัฐลดลง แต่รัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในอัตรา 7% ที่เกิดจากการบริโภคของประชาชนที่ได้รับการปรับค่าจ้างมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนอีกด้วย
อีกนโยบายที่สำคัญคือการเพิ่มรายได้จากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ข้าวเปลือกในราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 15,000 บาท นโยบายนี้จะเป็นนโยบายสำคัญ ที่จะมีระบบการบริหารจัดการราคาสินค้าเกษตรในเชิงรุก เป็นผู้กำหนดราคาสินค้าเกษตรหลักในตลาดโลก โดยจะนำเครื่องมือทั้งด้านการเงิน การตลาด และอื่นๆ เข้ามาบริหารจัดการอย่างครบวงจร พร้อมกับจะมีการลงทุนสร้างไซโลไว้เก็บสต็อกสินค้าเกษตร และมีองค์กรที่จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการอย่างครบวงจร ในรูปแบบเดียวกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ทำหน้าที่บริการจัดการธุรกิจน้ำมัน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการบัตรเครดิตให้เกษตรกรนำไปซื้อปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร แบบไม่คิดดอกเบี้ย โดยให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ เมื่อเกษตรกรนำผลผลิตไปขายแล้วก็จะมีการหักภาระหนี้เกษตรกรใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตออก จากนั้นก็จะจ่ายเงินกำไรส่วนที่เหลือให้แก่เกษตรกร ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้รัฐจะมีภาระต้นทุนดอกเบี้ยประมาณ 1% ต่อปีเท่านั้น
ส่วนการสร้างโอกาส นโยบายที่สำคัญ คือ โครงการกองทุนเถ้าแก่น้อย โดยจัดหาเงินให้แก่มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนแห่งละ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ที่จบการศึกษาใหม่ได้กู้ยืมเพื่อนำไปลงทุนประกอบธุรกิจของตัวเอง และโครงการอินเทอร์เน็ตฟรี
“ขณะนี้พรรคเพื่อไทยได้ทำแผนการลงทุนโครงการเมกะโปรเจค วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และแผนการดำเนินโครงการต่างๆ ในระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 2554-2558 ไว้แล้ว โดยเราจะลงทุนโดยไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะให้แก่ประเทศ แต่จะสร้างทุน สร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศแทน” แหล่งข่าวกล่าวในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น