วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

จาตุรนต์:พลังประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง

ในหลายเดือนมานี้เห็นได้ชัดว่า มีความพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นทั้งโดยการเรียกร้องให้มีการรัฐประหาร ซึ่งก็มีการเตรียมการทำรัฐประหารอย่างเอาจริงเอาจังเกิดขึ้นจริงๆ และยังมีการเรียกร้องให้มีการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 อยู่จนทุกวันนี้ 

แม้เมื่อเร็วๆนี้ผู้นำเหล่าทัพจะได้ออกมายืนยันว่าจะไม่ทำรัฐประหารแต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองพัฒนาต่อไป จะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น การอ้างเหตุต่างๆนานาดังที่เกิดขึ้นในอดีตก็ยังอาจเกิดขึ้นได้เสมอ จึงจำเป็นต้องมีการอธิบายให้เป็นที่เข้าใจว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรที่ร้ายแรงเพียงใดก็ตามย่อมไม่มีความชอบธรรมสำหรับการรัฐประหารเพราะการรัฐประหารย่อมมีแต่ทำให้บ้านเมืองเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่เสมอ…

โดย จาตุรนต์ ฉายแสง
ที่มา เวบบล็อกจาตุรนต์

สิ่งที่ควรเสนอต่อฝ่ายต่างๆในสังคมไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้เขียนบทความเรื่อง”การเลือกตั้งยังมีความหมายอะไร”เผยแพร่ในเว็บไซท์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ก็ยังหาอ่านได้ในบล็อกของผม

ในบทความนั้นได้ให้ความเห็นไว้ว่า แม้การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นอาจไม่มีความหมายอย่างการเลือกตั้งในอารยประเทศทั่วไป เพราะเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรม แต่ผู้ที่ต้องการให้บ้านเมืองพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นก็ไม่สามารถละเลยหรือมองข้ามการเลือกตั้งครั้งนี้ไปได้

หากแต่ควรหาทางช่วยกันทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองให้มากที่สุด ซึ่งผมก็ได้เสนอไปบ้างแล้วว่าควรจะทำอะไรกันบ้าง

มาวันนี้ผมขอเสนอให้ชัดเจนมากขึ้นว่า สิ่งที่ควรทำนั้นน่าจะมีอะไรบ้าง ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอต่อทั้งผู้สนใจปัญหาบ้านเมืองเป็นการทั่วไป และโดยเฉพาะองค์กรหรือกลุ่มพลังประชาธิปไตยทั้งหลายที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้

ข้อเสนอเหล่านี้เกิดจากการมองพัฒนาการของสถานการณ์ทางการเมืองในระยะหลังๆมาจนถึงปัจจุบัน

ในหลายเดือนมานี้เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นทั้งโดยการเรียกร้องให้มีการรัฐประหาร ซึ่งก็มีการเตรียมการทำรัฐประหารอย่างเอาจริงเอาจังเกิดขึ้นจริงๆและยังมีการเรียกร้องให้มีการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 อยู่จนทุกวันนี้

แม้เมื่อเร็วๆนี้ผู้นำเหล่าทัพจะได้ออกมายืนยันว่าจะไม่ทำรัฐประหารแต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองพัฒนาต่อไป จะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น การอ้างเหตุต่างๆนานาดังที่เกิดขึ้นในอดีตก็ยังอาจเกิดขึ้นได้เสมอ จึงจำเป็นต้องมีการอธิบายให้เป็นที่เข้าใจว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรที่ร้ายแรงเพียงใดก็ตามย่อมไม่มีความชอบธรรมสำหรับการรัฐประหาร

เพราะการรัฐประหารย่อมมีแต่ทำให้บ้านเมืองเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่เสมอ

การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับความขัดแย้งที่รุนแรงของสังคม มีการแบ่งขั้วแบ่งข้างกันอย่างหนักจนทำให้เป็นการเลือกตั้งที่มีเดิมพันสูงมาก

ในขณะที่กรรมการไม่เป็นกลางและกลไกของรัฐก็อาจถูกใช้หรือไม่ก็เต็มใจเสียเองที่จะเป็นเครื่องมือให้กับผู้มีอำนาจ

ขณะที่ก็เป็นที่ที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างเอิกเกริกเพื่อความพร้อมในการเลือกตั้ง การรณรงค์ป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่ง

การเลือกตั้งเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยการรวบรวมความเรียกร้องต้องการของตนและพัฒนาความคิดเหล่านั้นให้เป็นนโยบาย

ตลอดจนผลักดันให้นโยบายเหล่านั้นกลายเป็นสัญญาประชาคมที่พรรคการเมืองจะต้องสร้าง พัฒนานโยบายขึ้น และเมื่อพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมาแล้วก็จะมีความชอบธรรมที่จะนำนโยบายเหล่านั้นไปปฏิบัติ

ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองที่พูดถึงนี้นอกจากจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาหรือพัฒนาประเทศที่ต้องเสนอกันเป็นปรกติทั่วไปแล้ว สำหรับประเทศไทยในขณะนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องครอบคลุมถึงเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งก็คือทางออกจากวิกฤตทางการเมืองของประเทศ

เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและการปฏิรูประบบยุติธรรม ซึ่งน่าจะมีการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์มาอย่างเป็นระบบว่าจะแก้หรือปฏิรูปด้วยวิธีใด อย่างไร แล้วมานำเสนอเพื่อให้เป็นที่รับรู้และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางด้วย

ในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและให้เกิดความยุติธรรมนี้ ผมเคยเสนอความเห็นมาก่อนหน้านี้แล้วว่าทางออกควรเป็นการตั้ง สสร.ชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นหลัก ซึ่งควรจัดให้มีการทำประชามติเพื่อให้ปชป.ทั้งประเทศตัดสิน

รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และสภาพการทางการเมืองที่ผ่านมาได้ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของระบบพรรคการเมือง การเลือกตั้งและระบบรัฐสภาอย่างมาก จนกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของพลังประชาธิปไตยในปัจจุบัน การเข้าร่วมในการเลือกตั้ง การสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งด้วยความนิยมในนโยบายและบุคคลากรของพรรคย่อมจะยิ่งเพิ่มพูนประสบการณ์และพัฒนาความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของการที่ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองด้วยมือตนเองมากยิ่งขึ้น

การตัดสินของประชาชนทั่วประเทศในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาถูกหักล้างไปด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ประกอบด้วยคนเพียงไม่กี่คนที่ไม่มีความยึดโยงใดๆกับประชาชนเลย ระบบ กติกาและกลไกเหล่านี้ก็ยังอยู่

ทำให้มองกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนหวยล็อค แต่การร่วมกันยืนยันว่าการกำหนดว่าใครควรเป็นผู้บริหารประเทศเป็นอำนาจของประชาชน ย่อมทำให้การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆอีก และถ้าหากเกิดขึ้นอีก ประชาชนก็จะเห็นต้นตอของปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ยุติธรรมของประเทศชัดเจนยิ่งขึ้น

วิกฤตการเมืองของประเทศในขณะนี้เป็นปัญหายืดเยื้อที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขกันอีกนานทีเดียว การเลือกตั้งเป็นจุดผ่านจุดหนึ่งที่สามารถทำให้มีความหมายสำคัญได้ แต่ก็จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานของประเทศได้ในทันที ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นผลดีต่อการสร้างและพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวให้มากที่สุดได้อย่างไรนั่นเอง

จากสภาพการณ์ทางการเมืองดังกล่าวมานี้ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายและเป็นประโยชน์มากที่สุด ผมจึงมีข้อเสนอให้ผู้ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะองค์กรและบุคคลผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยทั้งหลายช่วยกันพิจารณาดังต่อไปนี้

1. ควรส่งเสริมผลักดันให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นให้ได้ ด้วยการแสดงความไม่เห็นด้วยกระทั่งคัดค้านต่อต้านความคิดความพยายามที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งไม่ว่าจะโดยการทำรัฐประหารหรือการบิดเบือนตีความกฎหมายอย่างเช่นการอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ก็ตาม

2. รณรงค์ส่งเสริมให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในการเลือกตั้งไม่ว่าจะเกิดจากการใช้อำนาจรัฐหรือการซื้อสิทธิขายเสียง

3. เสนอข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมืองต่างๆเพื่อให้พรรคการเมืองจัดทำนโยบายในการแก้ปัญหาของประเทศที่รวมถึงทางออกของวิกฤต การแก้ไขกฎกติกาให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม แล้วนำเสนอนโยบายนั้นต่อสาธารณชน เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมกันตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลบริหารประเทศรวมทั้งจะแก้ปัญหาต่างๆของประเทศกันอย่างไร

4. สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายและบุคคลากรที่สามารถแก้ปัญหาของประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

5. ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายยอมรับการตัดสินของประชาชน ยอมรับผลการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลตามวิถีทางในระบบรัฐสภาโดยปราศจากการก้าวก่ายแทรกแซงทั้งจากอำนาจอื่นใด และเปิดโอกาสให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้บริหารประเทศไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ ภายใต้การตรวจสอบของประชาชน

6. รณรงค์ต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งเพื่อให้มีการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองของประเทศอันได้แก่ความไม่เป็นประชาธิปไตยและความไม่ยุติธรรม

ข้อเสนอดังกล่าวนี้เป็นข้อเสนอสำหรับการหาทางออกจากวิกฤตของสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและต่อเนื่องต่อไปในระยะยาว ในขณะที่เหตุการณ์ทางการเมืองกำลังชุลมุนกันอยู่นี้ หากจะมาช่วยกันคิดตั้งหลักกันด้วยความมีสติ การทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยก็คงจะเป็นไปได้มากขึ้น

สำหรับสภาพเหตุการณ์ที่กำลังชุลมุนกันอยู่ในขณะนี้นั้น คงต้องขอแสดงความเห็นในโอกาสต่อไป

*****
บทความเกี่ยวเนื่อง

-จาตุรนต์:การเลือกตั้งครั้งต่อไป ยังจะมีความหมายอะไร


http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น